ผลวิจัยชี้ การทานอาหารในมื้อเช้า คือสิ่งสำคัญที่ส่งผลให้ช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมองได้
อาหารเช้า เป็นหนึ่งมื้ออาหารสำคัญในการสร้างพลังงานให้แก่ร่างกายและสมอง ต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในแต่ละวันได้อย่างมีนัยสำคัญ และส่งผลได้ดีและประสิทธิภาพมากที่สุด
ทีมนักวิจัยจาก Inrae, Inserm และ Université Sorbonne Paris Nord จากฝรั่งเศส รวมถึงสถาบัน Barcelona Institute for Global Health เผยว่า การรับประทานอาหารเช้าเร็วขึ้น จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจ และหลอดเลือดสมองมากขึ้น รวมถึงมื้อเย็นซึ่งเป็นมื้อสุดท้ายของวัน หากรับประทานอาหารช้าเท่าใด จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
ผลการศึกษาและวิจัยด้วยการบันทึกข้อมูลจากผู้เข้าร่วมมากกว่า 103,000 คน โดยกลุ่ม NutriNet-Santé ในปี 2009 ถึง 2022 ถูกนำมาใช้ในการวิจัยนี้ เพื่อหาความสัมพันธ์ ความไปได้ของพฤติกรรมการกินมนุษย์ พบว่าเวลาในการรับประทานอาหารเช้าและเย็นนั้น มีความสัมพันธ์กับจังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งอาจมีบทบาทในการลดและเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ และหัวใจวายได้ โดยพบมากใน กลุ่มที่มีอายุเฉลี่ย 42 ปี และ 79% เป็นผู้หญิง
ความเสี่ยงเหล่านี้จะเพิ่มขึ้น 6% ต่อชั่วโมง เป็นผลมาจากการรับประทานอาหารเช้าช้าและสาย รวมถึงผู้ที่ไม่รับประทานอาหารเช้าด้วย ตัวอย่างเช่น รับประทานอาหารเช้ามื้อแรกในเวลา 09.00 น. จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และหลอดเลือดเพิ่มเป็น 6% เมื่อเทียบกับการรับประทานอาหารตอน 08.00 น. เป็นต้น
โดยสำหรับมื้อเย็น หรือมื้อสุดท้ายของวัน การรับประทานอาหารเหล่านี้ช้ากว่า 21.00 น. มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เพิ่มขึ้นมากถึง 28% เมื่อเทียบกับการรับประทานอาหารก่อน 20.00 น. เช่นเดียวกัน
สำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก นักวิจัยสรุปและแนะนำว่า ยิ่งระยะเวลาของการอดอาหารตอนกลางคืนนานขึ้น (นับตั้งแต่ระยะเวลาของการทานมื้อสุดท้ายของวัน จนไปถึงมื้อแรกของวันถัดไป) ความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจก็จะยิ่งลดลง และช่วยป้องกันความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจได้ดียิ่งขึ้น
การค้นพบดังกล่าวเป็นเพียงความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของโรคที่เก็บจากสถิติเท่านั้น โดยความแม่นยำนี้ จำเป็นที่จะต้องทำซ้ำในกลุ่มประชากรอื่นๆ และผ่านการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม
ปัจจุบันทาง WHO นั้นได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการบริโภค และอาหารที่มากขึ้น เพื่อลดปัญหาโรคหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดสมอง ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่พบบ่อยที่สุด โดยมีผู้เสียชีวิตกว่า 8 ล้านคน ที่มีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหาร นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิต การสูบบุหรี่ และการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
การเก็บข้อมูลดังกล่าว มีจุดประสงค์เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของ “อาหารเช้าและอาหารเย็น” ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัย เกี่ยวกับการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด เพราะการทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะอนามัย มีประโยชน์ และตรงต่อเวลา มักจะส่งผลดีต่อร่างกายมนุษย์ และมีผลต่อการควบคุมความดันโลหิตโดยตรงอย่างแน่นอน
ข้อมูล : worldeconomicforum, citizen
– Website : www.thairath.co.th