สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เผยภาพ “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” วันที่ 27 สิงหาคม 2566 บันทึกผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.4 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา เห็นความสวยงามของวงแหวนได้อย่างชัดเจน และเผยภาพถ่ายดาวเสาร์ฝีมือคนไทย ตลอดระยะเวลา 8 ปี แสดงให้เห็นระนาบวงแหวนของดาวเสาร์ที่เปลี่ยนไปทุกปี
คืนวันที่ 27 สิงหาคม 2566 เกิดปรากฏการณ์ “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ดาวเสาร์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (Saturn Opposition) กล่าวคือ ดวงอาทิตย์ โลก และดาวเสาร์ เรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกันโดยมีโลกอยู่ตรงกลาง ส่งผลให้ดาวเสาร์มีระยะใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ห่างประมาณ 1,310 ล้านกิโลเมตร เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ดาวเสาร์จะปรากฏสว่างทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สังเกตได้ด้วยตาเปล่ายาวนานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า หลังจากนี้ดาวเสาร์จะยังคงปรากฏบนท้องฟ้าไปจนถึงประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ หากคืนไหนสภาพอากาศดีจะสามารถสังเกตดาวเสาร์ได้ และจะเกิดปรากฏการณ์ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปีครั้งถัดไป ในวันที่ 8 กันยายน 2567
สำหรับภาพถ่ายรวมดาวเสาร์ตลอดระยะเวลา 8 ปี เริ่มบันทึกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 – 2566 แสดงให้เห็นถึงระนาบวงแหวนของดาวเสาร์ที่เอียงทำมุมเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ในทุกปี จากภาพจะเห็นว่าในปี พ.ศ. 2560 เป็นช่วงที่ดาวเสาร์หันซีกเหนือเข้าหาโลกมากที่สุด ส่งผลให้สามารถชมวงแหวนของดาวเสาร์ได้อย่างชัดเจน จากนั้นดาวเสาร์ได้ค่อย ๆ เปลี่ยนไปหันซีกใต้เข้าหาโลกมากขึ้น จึงสังเกตวงแหวนของดาวเสาร์ได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งในอีกสองปีข้างหน้า ประมาณวันที่ 23 – 24 มีนาคม พ.ศ. 2568 ดาวเสาร์จะปรากฏเสมือนไร้วงแหวน เนื่องจากระนาบวงแหวนจะหันเข้าหาโลกพอดี อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านช่วงดังกล่าวไป คนบนโลกก็จะมีโอกาสชมความสวยงามของวงแหวนแบบเต็มตาอีกครั้ง
_______________
งานประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทร. 053-121268-9 ต่อ 210-211 , 081-8854353 โทรสาร 053-121250
E-mail: pr@narit.or.th Website : www.narit.or.th
Facebook: www.facebook.com/NARITpage, Twitter: @NARIT_Thailand,
Instagram: @NARIT_Thailand, TikTok: NARIT_Thailand