สามเหลี่ยมทองคำ – แกะอักษรโบราณใต้ฐานพระพุทธรูปจมน้ำโขง ฝ่าดรามาพระเก่า-พระใหม่..ชี้แปลความแล้วเทียบจารึกประเทศไทยและประชุมจารึกเมืองพะเยา พบชื่อผู้สร้างใบลานเรื่อง “มิลินทปัญหา” ยุคล้านนารุ่งเรือง-เชียงแสนเป็นเมืองลูกหลวง 520 ปีก่อน
หลังลาวได้ขุดทรายแม่น้ำโขง ริมฝั่งตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เพื่อนำทรายไปก่อสร้าง แต่ได้พบวัตถุโบราณ พระพุทธรูปขนาดต่างๆ โครงสร้างสิ่งก่อสร้างที่คาดว่าเป็นวัด ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.2567 จนถึงปัจจุบัน รวมกว่า 200 ชิ้น โดยเฉพาะ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการพบพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดสูงกว่า 2 เมตร จนเกิดประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า เป็นพระใหม่หรือพระเก่า พระจริงหรือพระปลอม กันแน่
ต่อมา (18 พ.ค.) มีการพบพระพุทธรูปองค์เล็กสูงตั้งแต่ 4-6 นิ้วอย่างน้อย 5 องค์ ซึ่งมีการนำภาพเผยแพร่ผ่านเพจ “ขัตติยะบารมี ขัตติยะ (ขัตติยะบารมี)” พบว่า พระพุทธรูปหนึ่งในนั้น มีอักษรโบราณที่สลักไว้ที่ฐานระบุชื่อผู้สร้าง-ปีที่หล่อ เอาไว้ด้วย
ซึ่งเพจ “ลายเมือง Lai-Muang” ได้แปลข้อความอักษรโบราณที่สลักไว้ที่ฐานของพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่สูงประมาณ 4 นิ้ว เป็นข้อความว่า “..เจ้าสินประ พญา หล่อแล ศักราช ได้ 866 ตัว..”
เมื่อนำมาอ้างอิงกับข้อมูลจากฐานข้อมูลจารึกประเทศไทยและประชุมจารึกเมืองพะเยา ที่มีจารึกและใบลานของล้านนา ทำให้รู้ว่า “นายสินประหญา (พ.ศ. 2038),เจ้าสินประหญา (พ.ศ. 2047) และมหาเถระสินประหญาเจ้า (พ.ศ. 2049)” เป็นบุคคลคนเดียวกัน และเป็นผู้สร้างใบลานเรื่อง “มิลินทปัญหา” ไว้ในหอไตรเมืองท่าสร้อยเมื่่อ พ.ศ.2038 เมื่อครั้นยังเป็นฆราวาสอยู่ ต่อมาชื่อยังถูกจารึกเอาไว้ในช่วงที่ญาติของท่านได้ถูกนำมาถวายเป็นข้าวัดวิสุทธาราม เมืองพะเยา เมื่อ พ.ศ.2049 ด้วย กระทั่งล่าสุดถูกพบในฐานพระพุทธรูปดังกลาว
เพจเดียวกันยังระบุอีกว่าประเด็นถกเถียงเรื่องความเก่าแก่ของโบราณวัตถุที่พบก็มีข้อความระบุว่า เจ้าสินประญาได้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ถวายไว้เมื่อปี พ.ศ.2047 แล้ว
ด้านเพจ “เชียงใหม่ที่คุณไม่เคยเห็น” ได้ขยายความว่า..ตัวเลขในฐานพระพุทธรูปที่ระบุว่า 866 คือ จ.ศ.866 หรือตรงกับ พ.ศ.2047 ซึ่งตรงกับรัชสมัยที่พญาเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ 11 ของราชวงศ์มังราย ที่ปกครองอาณาจักรล้านนา ระหว่าง พ.ศ. 2038-2068 จึงแสดงว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีอายุ 520 ปี และในยุคนั้นเมืองเชียงแสนเป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรล้านนาที่พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรือง มีหลักฐานจากศิลาจารึกว่ามีการสร้างวัด และพญาเมืองแก้วก็ยังทรงศรัทธาและทรงลาออกผนวชระยะหนึ่งด้วย
นอกจากนี้อักษรที่สลักตรงฐานของพระพุทธรูปองค์เล็กอีกองค์ที่ถูกพบในบริเวณเดียวกันเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2567 ว่ามีการจารึกในสมัยพญาเมืองแก้วเหมือนกันแต่มีอายุ 521 ปี