ศูนย์ข่าวภูมิภาค – คนไทยชุดสุดท้ายหนีสงครามโกกั้ง-แก๊งคอลเซ็นเตอร์รัฐฉานเหนือ นั่งเรือล่องน้ำโขงถึงสามเหลี่ยมทองคำขึ้นฝั่งไทยแล้ว พบมีอินโดฯ-ยูเครน-รัสเซีย หนีรอดมาด้วย บางรายเผยหลงเชื่อเฟซอวตาร สุดท้ายโดนส่งเข้าตึกหมายเลข 9 เมืองเล่าก์ก่าย ทำงานร่วมแก๊งจีนเทา
กรณีทหารโกกั้งกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (MNDAA) ร่วมกับกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) และกองทัพอาระกัน (AA) ในนาม Three Brotherhood Alliance บุกเข้ายึดครองเขตปกครองตนเองโกกั้ง ชายแดนจีน-เมียนมา ได้เบ็ดเสร็จตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา พบว่ายังคงมีคนไทยและต่างชาติที่ตกค้างอยู่ที่เมืองเล่าก์ก่าย เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองโกกั้ง หนีภัยกลับประเทศไทย แม้ว่าสถานการณ์สู้รบจะยุติลงแล้ว
โดยกลุ่มล่าสุดที่หนีออกจากเมืองเล่าก์ก่ายเป็นคนไทย 6 คน และต่างชาติ 7 คน (ชาวรัสเซีย 1 คน ยูเครน 1 คน และอินโดนีเซีย 5 คน) รวมจำนวน 13 คน ได้รับการช่วยเหลือจาก MNDAA ให้เดินทางออกจากเมืองเล่าก์ก่ายและพาไปส่งให้กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (The National Democratic Alliance Army:NDAA) ที่เมืองลา เขตปกครองพิเศษที่ 4 ซึ่งอยู่ทางตะวันออกสุดของรัฐฉานติดกับแม่น้ำโขงชายแดนเมียนมา-จีน-สปป.ลาว เพื่อให้ช่วยพากลับประเทศไทย
คนไทยที่ติดต่อกับองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนแจ้งกลับมาระหว่างได้รับการช่วยเหลือว่า NDAA ได้ช่วยเหลือเรื่องที่พัก อาหาร การรักษาโรคผู้ป่วย ฯลฯ เป็นอย่างดี ก่อนจะพาไปที่ท่าเรือริมแม่น้ำโขง และนั่งเรือยนต์ในช่วงเช้าวันที่ 8 ม.ค.นี้ ล่องเรือมาประมาณ 200 กิโลเมตร ก็ถึงจุดผ่านแดนถาวรสามเหลี่ยมทองคำ บ้านสบรวก หมู่ 1 ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และทางด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เชียงแสน พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ารับตัวและนำเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายต่อไป
หนึ่งในหญิงไทยกล่าวว่า เมื่อปลายปี 2566 มีคนใช้เฟซอวตารโพสต์ในเฟซบุ๊กกลุ่มท้องถิ่นอ้างว่ามีงานให้ทำที่ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ติดกับ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตนตกงานอยู่จึงสมัครงานพร้อมกับเพื่อนอีก 1 คน ซึ่งกลุ่มขบวนการได้จองตั๋วรถให้และมีรถไปรับแล้วพาไปส่งที่กรุงเทพฯ ก่อนนั่งรถทัวร์ไปที่ อ.แม่สาย จากนั้นมีรถไปรับ-พาลักลอบข้ามไปยัง จ.ท่าขี้เหล็ก
“ที่ท่าขี้เหล็กฉันได้พบคนไทยและต่างชาติกลุ่มใหญ่ที่ถูกพาเดินทางไปกับรถซึ่งติดสติกเกอร์ด้านหน้า เมื่อเจอด่านต่างๆ ในเมียนมาก็จะผ่านตลอด ใช้เวลาเพียง 1 วันก็ถืงเมืองล่าเสี้ยวและถูกพาไปยังเมืองเล่าก์ก่าย”
เธอกล่าวอีกว่า ที่เมืองเล่าก์ก่าย เธอถูกบังคับให้ทำสัญญาจ้างงาน 1 ปี ในตึกหมายเลข 9 กับบริษัทชาวจีนที่มีภรรยาเป็นคนไทยตั้งครรภ์อยู่ มีคนไทยอยู่ด้วย 50 คน มีชาวต่างชาติ เช่น มาเลเซีย เวียดนาม จีน รัสเซีย ไต้หวัน ฯลฯ ทุกคนถูกบังคับให้ใช้ระบบ AI ปลอมตัวเป็นชายลูกครึ่งเกาหลีอายุ 38 ปี อยู่กรุงเทพฯ เปิดร้านอาหารอยู่เกาหลีใต้
จากนั้นให้วิดีโอคอลที่เป็นภาพปลอมคุยเหยื่อส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงโสด มีอายุและการงานดี เมื่อคุยจนหลอกเป็นแฟนกันทางออนไลน์แล้วก็จะอ้างว่าธุรกิจเสียหายจากวิกฤตโควิด-19 จึงชักชวนให้เหยื่อช่วยลงทุนในเทรด ช่วงแรกก็ได้กำไรคืน แต่เมื่อโอนเงินก้อนโตไปให้ก็จะปิดเว็บไซต์และบล็อกหนี
อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้ทำงานนี้เพราะป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล กระทั่งต่อมาได้ยินเสียงปืนและระเบิดจากการสู้รบ และวันที่ 16 พ.ย. 66 ทหาร MNDAA บุกเข้าไปในตึก แต่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็พาพวกตนหลบหนีไปซ่อนตัวที่อื่นอีก 10 วัน กระทั่งพวกตนหนีออกไปพบกับทหาร MNDAA จึงรอดออกมาได้ จากนั้นก็ได้รับการดูแลอย่างดีทั้งที่พักและอาหารเป็นเวลา 3-4 วัน
โดยทหาร MNDAA ให้พักบนตึกที่ยึดได้ใหม่ๆ ก่อนจะส่งพวกตนไปยังเมืองลาที่มี NDAA ที่รับช่วงต่อ ซึ่งพวกตนได้รับการต้อนรับและดูแลอย่างดีเหมือนเป็นแขกและไม่ใช่คนหลบหนีเข้าเมือง ให้พักโรงแรมหรู มีแอร์ เครื่องทำน้ำอุ่น อาหาร เครื่องดื่ม มีแม่บ้านทำความสะอาดห้องเกือบทุกวัน ฯลฯ ส่วนคนที่ป่วยก็พาไปรักษาที่โรงพยาบาลอย่างดี ทำให้รู้สึกตื้นตันใจมาก
ด้านชายไทย 1 ใน 6 คน กล่าวว่า ตนและพรรคพวกหลายคนใช้บอเดอร์พาสเข้าไปในเมียนมา และมีรถเก๋งไปรับสลับกับเดินเท้าเป็นเวลา 5 วัน 4 คืนจึงถึงเมืองล่าเสี้ยวและถูกส่งไปอยู่ตึกหมายเลข 9 ในเมืองเล่าก์ก่ายเช่นกัน จากนั้นถูกบังคับให้ใช้วอตส์แอปป์ติดต่อกับเหยื่อทางทวีปยุโรป โดยให้สร้างชื่อปลอมเพื่อติดต่อกับเหยื่อวันละ 15-30 รายชื่อ เมื่อได้ข้อมูลของเหยื่อก็จะส่งให้อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งหากเราไม่ทำก็จะถูกทำร้ายด้วยการเฆี่ยนตี
ทั้งนี้ องค์กรเอกชนที่ประสานงานช่วยเหลือระบุว่าคนไทยกลุ่มนี้คงเป็นเหยื่อกลุ่มสุดท้ายที่หนีออกจากเขตโกกั้ง เพราะการสู้รบได้ยุติลงแล้วและ MNDAA ก็ปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างหนัก ส่วนตำรวจของไทยสรุปว่ามีคนไทยได้ออกจากเขตโกกั้งมาแล้ว 525 คน แต่เป็นผู้ต้องหาและถูกหมายจับอย่างน้อย 20 คน