นักวิทยาศาสตร์เผยมีแนวโน้มถึง 90% ที่ปี 2567 มี อุณหภูมิทั่วโลกร้อน ขึ้นจนทุบสถิติ เนื่องจาก “ปรากฏการณ์เอลนีโญ” ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่าแอมะซอน หรือ อะแลสกาที่มีน้ำแข็งปกคลุมทั้งปีก็หนีไม่รอด ขณะที่ไทยก็ต้องเตรียมรับมือเช่นกัน
ปี 2566 กลายเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการจดบันทึกในปี 2393 และอาจจะร้อนที่สุดในรอบอย่างน้อย 100,000 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกิดเอลนีโญ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกจะปลดปล่อยความร้อนออกมา ทำให้ในช่วงครึ่งหลังของปี อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป จีน และมาดากัสการ์ ต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด ขณะเดียวกันปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงมากขึ้น จนอุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้น และ ส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงปี 2567 ที่จะกลายเป็นที่ร้อนยิ่งกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา
โลกร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดร.หนิง เจียง จากสถาบันวิทยาศาสตร์อุตุนิยมวิทยาจีน และคณะทำการศึกษา ซึ่งได้ตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports โดยใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์ระบุฮอตสปอตในภูมิภาคที่เป็นไปได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 พร้อมจำลองผลกระทบของเหตุการณ์ดังกล่าวต่อความแปรผันของอุณหภูมิอากาศบนพื้นผิวในระดับภูมิภาคตั้งแต่เดือนก.ค. 2566 ถึง มิ.ย. 2567 พบว่ามีโอกาส 90% ที่อุณหภูมิโลกในปี 2567 จะสูงขึ้นจนทำลายสถิติใหม่
ทีมวิจัยคาดการณ์ว่าอุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยทั่วโลกระหว่างเดือนก.ค. 2566 ถึง มิ.ย. 2567 จะเพิ่มขึ้นอยู่ระหว่าง 1.1-1.2 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในยุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 1.4-1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับเกณฑ์สำคัญในข้อตกลงปารีสปี 2015 ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ หรือ COP ครั้งที่ 21 ที่พยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม
“คลื่นความร้อนที่รุนแรงและพายุหมุนเขตร้อน เมื่อรวมกับการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลทั่วโลกที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ พื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มีประชากรหนาแน่นกำลังเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศครั้งใหญ่และเร่งด่วน ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของมนุษย์ในการปรับตัว การบรรเทา และการบริหารความเสี่ยง” ดร.หนิง กล่าว
“คลื่นความร้อน” ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ จะทำให้อุณหภูมิในมหาสมุทรเพิ่มมากขึ้น พร้อมความเสี่ยงเกิดไฟป่าและผลกระทบต่าง ๆ เกิดขึ้น ในหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่งทะเล เนื่องจากมหาสมุทรสามารถกักเก็บความร้อนได้มากกว่าพื้นดิน หมายความว่าสภาพอากาศที่ร้อนจะคงอยู่เป็นระยะเวลานานขึ้น
แผนที่แสดงอุณหภูมิที่สูงขึ้นที่คาดการณ์ไว้ในปี 2024 เป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรง
“เอลนีโญ” สาเหตุหลักทำอุณหภูมิสูงทั่วโลก
ปรากฏการณ์สภาพอากาศ 2 ขั้ว ประกอบไปด้วย เอลนีโญ และ “ลานีญา” เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างกระแสน้ำและชั้นบรรยากาศ เกิดการเปลี่ยนแปลงบริเวณแถบเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก ซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างช้านาน โดยเอลนีโญจะเป็นช่วงที่อุณหภูมิสูงขึ้น ส่วนลานีญาจะทำให้อุณหภูมิลดต่ำลง
แต่ในระยะหลังปรากฏการณ์เหล่านี้รุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากระดับคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลในชั้นบรรยากาศที่เพิ่มสูงขึ้น
เมื่อเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ กระแสลมสินค้าตะวันออกอ่อนกำลังลง กระแสลมพื้นผิวเปลี่ยนทิศทาง พัดจากประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลียตอนเหนือไปทางตะวันออก แล้วยกตัวขึ้นเหนือชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้ ก่อให้เกิดฝนตกหนักและแผ่นดินถล่มในประเทศเปรูและเอกวาดอร์
กระแสลมพัดกระแสน้ำอุ่นบนพื้นผิวมหาสมุทรแปซิฟิกไปกองรวมกันบริเวณชายฝั่งประเทศเปรู ทำให้กระแสน้ำเย็นใต้มหาสมุทรไม่สามารถลอยตัวขึ้นมาได้ ส่งผลกระทบให้บริเวณชายฝั่งขาดธาตุอาหารสำหรับปลาและนกทะเล ชาวประมงจึงขาดรายได้
ปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้ฝนตกหนักในตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ และก่อให้เกิดความแห้งแล้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตอนเหนือของออสเตรเลีย โดยปกติแล้ว เอลนีโญจะรุนแรงสูงสุดระหว่างในช่วงพ.ย.-ม.ค.
“เอลนีโญ” ส่งผลกระทบถึงไทย
นักวิทยาศาสตร์พบว่า ในปี 2567 มีแนวโน้มที่อุณหภูมิในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแอมะซอนจะสูงขึ้นจนทำลายสถิติ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า เนื่องจากความแห้งแล้งในช่วงปลายปี 2566 ทำให้เกิดไฟไหม้อย่างรุนแรง อีกทั้งในเดือนก.พ. 2567 มีระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูงเป็นประวัติการณ์
อีกทั้ง ปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรงนี้จะทำให้เกิดคลื่นความร้อนทั่วภูมิภาคแคริบเบียน อ่าวเบงกอล และทะเลจีนใต้ ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงประเทศไทยด้วย คลื่นความร้อนในทะเลที่สามารถฟอกขาวและทำลายแนวปะการัง ที่ถือว่าเป็นแหล่งกันชนจากพายุโซนร้อน
ขณะที่อุณหภูมิที่สูงในรัฐอะแลสกา จะส่งผลให้ธารน้ำแข็งและชั้นดินเยือกแข็งคงตัวละลาย และเกิดการกัดเซาะชายฝั่งเพิ่มมากยิ่งขึ้น
ไมเคิล แมคฟาเดน สมาชิกในทีมวิจัยจาก NOAA กล่าวว่า “นี่คือจุดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสุดขั้วในระดับสูง และภาวะสุดขั้วเหล่านี้สร้างความเสียหายอย่างมาก ทั้งต่อสุขภาพของมนุษย์ความเสียหายต่อระบบนิเวศทางทะเล”
ทั้งนี้ ระดับความรุนแรงของปรากฏการณ์เอลนีโญที่อาจจะเกิดในปีนี้ ถือว่าอยู่ในระดับ “ปานกลาง” แต่ก็สามารถสร้างผลกระทบที่รุนแรง และจนทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาภายในเดือนมิ.ย. นี้
ที่มา: New Scientist, The Guardian, The Verge
เรื่องราวโดย Bangkokbiznews