แม่ฮ่องสอน – น้ำป่าไหลหลากถล่มกระทบหนัก “ปางมะผ้า” เส้นทางและสะพานพังเสียหายหลายแห่ง แขวงทางหลวงแม่ฮ่องสอนต้องประกาศปิดถนนสาย 1095 เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน แก้ไขสะพานเบลีย์ช่วงก่อนถึงตัวเมือง 25 กม. ขณะที่ “ขุนยวม” อ่วมด้วย จนท.ต้องโรยตัวช่วยชาวบ้านหนีน้ำกันระทึก
ฝนที่ตกหนักตั้งแต่คืนวันที่ 11 ส.ค. ต่อเนื่องตลอดทั้งวันของวันที่ 12 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา สร้างความเสียหายแก่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้งพื้นที่การเกษตร แหล่งท่องเที่ยวที่ต้องปิดเพื่อความปลอดภัย พื้นที่บางแห่งเกิดอุทกภัยซ้ำซากเป็นรอบที่ 2-3 ตั้งแต่ต้นเดือน และที่สำคัญมีสะพานเชื่อมต่อหมู่บ้าน รวมถึงเส้นทางหลัก ทล.1095 ที่ได้รับความเสียหายและเกรงจะไม่ปลอดภัย จนต้องประกาศปิดเพื่อทำการซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน
ล่าสุดตั้งแต่เช้าตรู่วันนี้ (13 ส.ค.) ฝ่ายช่างของแขวงทางหลวงแม่ฮ่องสอนได้เริ่มลงมือซ่อมแซมสะพานสำรองของถนนหลวงสาย 1095 ที่ติดตั้งรอการก่อสร้างใหม่ตั้งแต่เหตุน้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว บริเวณบ้านห้วยผา อ.เมืองแม่ฮ่องสอน หรือก่อนถึงตัวเมืองแม่ฮ่องสอนประมาณ 25 กิโลเมตร หลังต้องเจอกับอุทกภัยระลอกใหม่ของวันที่ 12 สิงหาฯ ที่ผ่านมา คอสะพานโดนน้ำกัดเซาะและกระทบสะพานสำรองจนเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย
โดยต้องเริ่มดำเนินการปิดการจราจรบนเส้นทางสายนี้ตั้งแต่เวลา 06.00 น.ของวันที่ 13 สิงหาคมนี้ไปจนถึงเวลาประมาณ 14.00 น. หรือหากแล้วเสร็จก่อนเวลาก็จะเร่งเปิดการจราจรทันที เนื่องจากจุดที่ติดตั้งสะพานเบลีย์แห่งนี้ไม่มีทางเบี่ยง เพราะฉะนั้นทั้งรถโดยสารประจำทางแม่ฮ่องสอน-เชียงใหม่ หรือรถทุกประเภทจะไม่สามารถผ่านได้กว่าครึ่งวันดังกล่าว ต้องเลื่อนกำหนดเดินทาง หรือใช้เส้นทาง ทล.108 เชียงใหม่-แม่สะเรียง-แม่ฮ่องสอน แทน
ทั้งนี้ น้ำป่ายังไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนในพื้นที่บ้านไร่ และบ้านท่าไคร้ หมู่ที่ 3 ต.สบป่อง อ.ปางมะผ้า และเส้นทางระหว่างทางหลวงแผ่นดิน 1095-บ้านไร่ ได้ถูกน้ำท่วมด้วย ซึ่งนายวีรพงศ์ รัตนศรี นายอำเภอปางมะผ้า ได้ประสานงานทุกหน่วยงาน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปายส่ง จนท.เข้าช่วยเหลือขนอุปกรณ์เครื่องใช้ของราษฎรขึ้นพื้นที่สูง และขนเศษกิ่งไม้ ต้นไม้ที่ขวางทางน้ำ ตลอดจนจะใช้แพยางอพยพเจ้าของและลูกจ้างรีสอร์ต 6 รายที่ติดค้างในพื้นที่น้ำท่วมขัง
ส่วนของพื้นที่ประสบภัยที่มีรายงานเพิ่มเติมก็คือพื้นที่ของ ต.แม่ยวมน้อย อ.ขุนยวม ที่มีทั้งสะพานชำรุด น้ำหลากเข้าท่วมทำความเสียหายแก่บ้านเรือนและรถยนต์ของชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ต้องใช้วิธีโรยตัวเพื่อเข้าไปช่วยเหลือหรือทำการเคลื่อนย้ายผู้คนออกมา
ส่วนการสำรวจความเสียหายนั้น จะต้องรอให้ฝนหยุดและแก้ไขสะพานหรือถนนที่ชำรุดเสียก่อน เจ้าหน้าที่จึงจะเข้าไปดำเนินการต่อไปได้
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์