เตรียมฟื้นฟูประเพณี “จุดสะโป๊ก” รับปีใหม่เมือง พร้อมย้อนรอยการละเล่นเสียงดังในอดีต

เชียงใหม่ – เตรียมสัมผัสบรรยากาศปีใหม่เมืองล้านนาอันเป็นเอกลักษณ์ เมื่อสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองเชียงใหม่ เตรียมจัดงานฟื้นฟูประเพณีโบราณ “จุดสะโป๊ก” ในวันสังขานต์ล่อง ตรงกับวันที่ 14 เมษายน 2568 ณ พุทธสถานเชียงใหม่ ตั้งแต่เวลา 19.00 – 21.00 น.
อ.มานิตย์ ขันธสีมา ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงความสำคัญของประเพณีดังกล่าวว่าเป็นส่วนหนึ่งของการต้อนรับปีใหม่ไทย (ปีใหม่เมือง) ที่ยึดถือตามการเคลื่อนของจุลศักราช โดยในปีนี้ วันสังขานต์ล่องซึ่งถือเป็นวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ตรงกับวันที่ 14 เมษายน
ตามความเชื่อของชาวล้านนา ในช่วงเช้ามืดของวันสังขานต์ล่อง จะมีการยิงปืน จุดสะโป๊ก และจุดประทัด เพื่อส่งเสียงดังขับไล่สิ่งชั่วร้ายที่มากับปีเก่า และเป็นการเฉลิมฉลองต้อนรับความเป็นสิริมงคลที่จะเข้ามาในสังขานต์ปีใหม่ โดยเด็กๆ จะถูกปลุกให้ตื่นแต่เช้าเพื่อไปหลบใต้ต้นมะเขือ แอบดู “ปู่สังขานต์”
สำหรับการจัดงานฟื้นฟูในปี 2568 นี้ สภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองเชียงใหม่ ตั้งใจที่จะสืบสานประเพณีที่มีมาแต่โบราณ โดยเชื่อว่าเป็นการส่งปู่สังขานต์ ย่าสังขานต์ และสิ่งอัปมงคลต่างๆ ไปกับปีเก่า พร้อมทั้งต้อนรับสิ่งดีงามที่จะมากับปีใหม่ นอกจากพิธีจุดสะโป๊กแล้ว ภายในงานยังมีการแสดงทางวัฒนธรรมอันตระการตา อาทิ การตีกลองนานาชนิด (กลองตึ่งโนง กลองปู่เจ่ กลองมองเซิง) การฟ้อนดาบไฟ การแสดงของเด็กๆ และปิดท้ายด้วยการฟ้อนเล็บอันอ่อนช้อย พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้ร่วมกันจุดสะโป๊กอีกด้วย
อนึ่ง ประเพณีการจุดสะโป๊กมิได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในพิธีกรรมเท่านั้น ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 เทศบาลเมืองแพร่ยังได้จัดการแข่งขันจุดสะโป๊กในงานประเพณีสงกรานต์ “ดอกลมแล้งบาน สงกรานต์เมืองแป้ นุ่งหม้อห้อมแต้งามตา” ซึ่งเป็นการละเล่นที่สร้างความสนุกสนานและส่งเสียงดังเพื่อไล่สิ่งอัปมงคลตามความเชื่อ โดยมีการแข่งขันออกเป็นสองประเภทคือ แม่นยำ และยิงไกล ซึ่งแสดงให้เห็นว่า “สะโป๊ก” เป็นทั้งประเพณีและเป็นส่วนหนึ่งของการละเล่นพื้นบ้านของชาวล้านนา ที่มีรากฐานจากภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้อุปกรณ์ธรรมชาติและเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดเสียงดัง
การฟื้นฟูประเพณีจุดสะโป๊กในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่คนรุ่นใหม่และผู้สนใจจะได้สัมผัสและเรียนรู้ถึงวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของล้านนาในช่วงเทศกาลปีใหม่เมือง
แหล่งอ้างอิง: ข้อมูลจาก อ.มานิตย์ ขันธสีมา สภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองเชียงใหม่ และรายงานข่าวเทศบาลเมืองแพร่ ปี 2561 (อ้างอิงภาพจาก พิพิธภัณฑ์เรือนล้านนา มช./เทศบาลเมืองแพร่)

ผู้สื่อข่าว: (บุณย์ มหาฤทธิ์/บันทึก)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า