เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้เปิดภาพพยากรณ์ฝนสะสมทุกๆ 6 ชม. และโอกากาสการก่อตัวของพายุฯ จาก ECMWF init.2023042512: ในระยะ 10 วันข้างหน้า ช่วงวันที่ 26-27 เม.ย. 66 บริเวณประเทศไทยตอนบนมีโอกาสเกิดพายุฤดูร้อนขึ้น ในบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม. และปริมณฑล ภาคใต้ตอนบน ทิศทางลมยังแปรปรวน ยังต้องเฝ้าระวังพายุฝนฟ้าคะนอง และมีโอกาสเกิดขึ้นอีกครั้งช่วงเย็นของวันที่ 29-30 เม.ย. 66 ส่วนมหาสมุทรแปซิฟิก ทะเลจีนใต้ และทะเลอันดามัน ยังไม่มีสัญญาณการก่อตัวของพายุหมุนเขตร้อน
นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศใน 7 วันข้างหน้า ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.66 ถึง 2 พ.ค.66 โดยระบุว่า
ในช่วงวันที่ 27 – 28 เม.ย. และ 2 พ.ค. 66 ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงบางพื้นที่
ส่วนในช่วงวันที่ 29 เม.ย. – 1 พ.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ส่วนอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ข้อควรระวังขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยดูแลรักษาสุขภาพ และระวังโรคลมแดดเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อน ตลอดช่วงในช่วงวันที่ 29 เม.ย.-1 พ.ค. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ไม่ควรสวมใส่โลหะ และหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง