กลิ่น เป็นประสาทสัมผัสแรกที่ชัดแจ้งที่สุด เมื่อก้าวเข้าไปในโรงงานขนาดชั้นเดียวแห่งหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นกลิ่นหอมหวานไม่ทราบที่มา ที่ขัดกับบรรยากาศที่รายล้อมไปด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะขวดแก้วหลากขนาดเหมือนที่เห็นในห้องทดลอง หรือเตาฟืนรูปร่างแปลกตา
พนักงานไม่กี่ชีวิต บนสายพานการผลิตไร้เครื่องจักร กำลังมือเป็นระวิงกับกิจกรรมที่ทำซ้ำไปมาเหมือนหุ่นยนต์ เริ่มจากล้างขวดแก้วใส บรรจุน้ำไร้สีลงไป ส่องไฟฉายพร้อมติดฉลากสีน้ำเงินเข้ม ก่อนนำเครื่องเป่าไอร้อนเพื่อหุ้มปากขวดด้วยพลาสติกให้มิดชิดยิ่งเข้าไปใกล้ กลิ่นหอมหวานนั้นก็ยิ่งชัด ที่มาของมัน คือ น้ำใสปราศจากสี ในขวดทรงสวย ติดฉลากข้างขวดว่า “สังเวียน” (Sangvein) เหล้ารัมจากอ้อย ที่จำเป็นต้องใช้ชื่อ “สุราขาว” ในฐานะสุรากลั่นชุมชน ตามกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565
“โคตรดึกดำบรรพ์เลย” นี่คือคำที่ ทวีชัย ทองรอด หรือช้าง เจ้าของโรงกลั่นสุรา “สังเวียน” ใช้เปรียบถึงสายการผลิตสุรา ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก หลังนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงในรายการ “กรรมกรข่าว คุยนอกจอ” ของสรยุทธ สุทัศนะจินดา
“เราอยู่ในยุคที่ส่งคนไปอวกาศได้แล้ว แต่คนงานผมยังต้องมาติดสติกเกอร์ด้วยมือ ต้องใช้ฟืนกลั่นเหล้า”
“กฎหมายมันไม่พัฒนาไปตามโลก เขาตั้งใจให้คนทำเหล้าชุมชนเหมือนเหล้าป่าเกินไป… ผมไม่มีป่ารอบโรงงานสักหน่อย” เขากล่าวเชิงตัดพ้อ จากโรงกลั่นเหล้าริมถนนใน อ.เดิมบางนางบวช ห่างจาก อ.เมือง ไม่ถึง 50 กิโลเมตร ซึ่งเมื่อหันออกไปนอกโรงงาน จะเห็นประชาชนเข้ามาชิมผลิตภัณฑ์ สั่งซื้อ และขนลังบรรจุขวดสุราออกไปอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าผลิตไม่ทันจำหน่าย
ศาสตร์จากอังกฤษ สู่เหล้าที่ “จริงใจ”
จุดเริ่มต้นของสุราสังเวียน ไม่ได้ “สวยหรู” อะไรนักในสายตาของทวีชัย อันที่จริง สุรากลั่น ยังไม่ใช่สิ่งที่เขาตั้งเป้าหมายจะรังสรรค์ด้วยซ้ำ เพราะสิ่งที่เขาอยากทำจริง ๆ คือ คราฟต์เบียร์
“ผมจบทำเบียร์ปริญญาโทจากประเทศอังกฤษ ที่มหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม” ในสาขาที่เรียกว่า “ศาสตร์การกลั่นเบียร์” ของศูนย์ศาสตร์การกลั่นเบียร์นานาชาติ (ICBS)
เมื่อกลับมาประเทศไทย เขาได้ไปทำงานที่โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ในกทม. อยู่พักหนึ่ง แต่เมื่อพิจารณาข้อจำกัดทางกฎหมายแล้ว ยังคิดว่าการทำยี่ห้อเบียร์ในไทยยังเป็นเรื่องยาก และไม่คุ้มทุน ตัวเลือกที่พอทำได้มากกว่า คือ สุราชุมชน จากวัตถุดิบใกล้ตัวที่บ้านเกิด คือ อ้อย
“ประเทศไทยอ้อยเยอะมาก รอบโรงงานมีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปหาไหนไกลญาติก็ปลูกคนรู้จักก็ปลูก” เขาอธิบาย ซึ่งช่วงปีแรก ๆ จะซื้อ “อ้อยก้นไร่” หรืออ้อยที่ขายไม่ทันการรับซื้อของโรงงานน้ำตาล มาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ปีละ 20-30 ตัน
หลังลองผิดลองถูกจากห้องทดลอง “เครื่องแก้ววิทยาศาสตร์” และเสริมความรู้ผ่านข้อมูลจากสมาคมผู้หมักเบียร์และผู้กลั่นเหล้าแห่งสหราชอาณาจักร (ไอบีดี) ที่เขาเป็นสมาชิก ก็ได้ผลลัพธ์มาเป็นสุราประเภทรัม แบบกลั่นครั้งเดียว (Single Distil) ที่รสชาติของวัตถุดิบ “ชัด” เพราะไม่ได้กลั่นหลายครั้ง
“เหล้าสังเวียน เป็นเหล้าที่จริงใจ… นี่แหละคือความจริงใจของวัตถุดิบ” ทวีชัย ระบุ ก่อนอธิบายต่อว่า ส่วนชื่อ “สังเวียน” นั้น ก็ไม่ได้มีที่มาซับซ้อน เพราะเป็นชื่อของคุณปู่นั่นเอง
วัตถุดิบจากชุมชน
จ.สุพรรณบุรี เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ปลูกอ้อยเป็นจำนวนมาก นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหัวเขา บอกกับบีบีซีไทยว่า เฉพาะในตำบลหัวเขา มีการปลูกอ้อยถึง 20,000 ไร่
อ้อยเป็นพืชที่จะให้ผลผลิตปีละครั้ง แต่โรงงานน้ำตาลจะรับซื้อเป็นเวลาสั้น ๆ หรือที่คนในพื้นที่เรียกว่า “เปิดหีบ” คือระหว่างเดือน พ.ย. ถึง ก.พ. ก่อนจะ “ปิดหีบ” ทำให้บางครั้งเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตขายไม่ทัน จนเหลือ “อ้อยก้นไร่” เป็นจำนวนมาก ซึ่งอ้อยนั้น หากปล่อยทิ้งไว้ ก็จะค่อย ๆ หมดความหวาน จนนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ จึงมีข่าวการเผาอ้อยในจังหวัด เป็นปัญหาแทบทุกปี
“เขาก็ไม่รู้จะขายให้ใคร เราก็เลยรับซื้อเพื่อนำมากลั่นเหล้า… แทนที่จะไปตัดเผาทิ้ง มันก็ไม่มีมูลค่า” ธนู ทองรอด นายกฯ อบต. กล่าว โดยการติดต่อรับซื้ออ้อยนั้น จะทำผ่านวิสาหกิจชุมชน และซื้อในราคามาตรฐานเดียวกับโรงงาน
แต่ภายหลังชื่อสุรา “สังเวียน” เป็นที่รู้จักมากขึ้นผ่าน ส่งผลให้ทางวิสาหกิจชุมชนต้องวางแผนรับซื้ออ้อยใหม่ ให้มากขึ้นกว่าเดิม 200-300% ในปีต่อ ๆ ไป เพราะมีผู้คนติดต่อซื้อจนหมดสต๊อกแล้ว
“จากปกติเรารับซื้อประมาณ 300 ตัน ปีหน้าก็จะซื้อ 600 ถึง 900 ตัน” ธนู กล่าว พร้อมเปิดเผยว่า กำลังมีการทดลองนำมะม่วง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งของดี จ.สุพรรณบุรี มากลั่นเป็นสุราชุมชนด้วย เชื่อว่า จะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง ที่กำลังประสบปัญหาราคาตกต่ำ
คุณภาพสากล กระบวนการผลิตแบบเหล้าป่า
กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อเดือน พ.ย. 2565 ปาดหน้ากฎหมาย “สุราก้าวหน้า” ที่พรรคก้าวไกลผลักดัน กำหนดว่า “โรงอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็ก” ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมหรือกำลังเทียบเท่าต่ำกว่า 5 แรงม้า หรือใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน หรือกรณีใช้ทั้งเครื่องจักรและคนงาน ให้เครื่องจักรมีกำลังรวมหรือกำลังเทียบเท่าต่ำกว่า 5 แรงม้า และคนงานมีจำนวนน้อยกว่า 7 คน
“กาต้มน้ำร้อนแบบที่คุณกดแล้ว 1 นาทีน้ำเดือด ใช้ไฟฟ้า 2,000 วัตต์ เท่ากับ 3 แรงม้า… หมายความว่า หม้อต้มกาแฟที่บ้านคุณ ใช้แรงม้ามากกว่าโรงงานผมแล้ว” ทวีชัย ตีความกฎกระทรวงฯ กับสิ่งที่ทางโรงงานถูกบีบให้ต้องปฏิบัติกับบีบีซีไทย
และนี่คือสิ่งที่โรงกลั่นสุรา “สังเวียน” ทำ เพื่อให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขตามที่กฎกระทรวงฯ กำหนด
- เตาฟืนขนาดไม่เกิน 1 เมตร จำนวน 2 เตา (เตาละครึ่งแรงม้า รวมเป็น 1 แรงม้า)
- เครื่องบรรจุสุราลงขวด 1 ตัว แบบใช้มอเตอร์ปั๊มน้ำขนาดเล็ก เพื่อลดจำนวนกำลังวัตต์
- เครื่องติดสติกเกอร์และฉลากข้างขวด 1 เครื่อง แบบทำได้ครั้งละ 1 ขวด
- ไฟฉาย สำหรับส่องดูสิ่งแปลกปลอม และตรวจสอบความขุ่นใสของสุรา
- เครื่องเป่าลมร้อน 1 ตัว สำหรับซีลที่หุ้มพลาสติกปากขวด
- กระบวนการทั้งหมด ตั้งแต่ การล้างขวด บรรจุสุรา ติดสติกเกอร์ และเป่าลมร้อน ใช้แรงงานมนุษย์ทั้งหมด สายการผลิตละ 1 คน เพื่อไม่ให้เกินข้อกำหนด ทั้งจำนวนคนและแรงม้า
“มันเป็นการทรมานโดยใช่เหตุ” ทวีชัย โอดครวญ “มันไม่ใช่งานที่มนุษย์ควรมาทำนะครับ มันเป็นงานจำเจสำหรับเครื่องจักร”
แม้กฎกระทรวงฯ 2565 จะไม่กำหนดเพดานการผลิตสำหรับเบียร์และสุรากลั่นชุมชน แต่ด้วยข้อกำหนดแรงม้าและจำนวนคนในโรงงาน ทำให้ประเภทของอุปกรณ์และเครื่องจักรถูกจำกัด เตาฟืนสำหรับการกลั่นเหล้าที่ ทวีชัย เลือกใช้ ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกดีที่สุดในตอนนี้ เพราะคำนวณแรงม้าออกมาได้น้อยที่สุด
ภายหลังการอนุมัติกฎกระทรวง พรรคก้าวไกลได้ออกมาประกาศต่อต้าน ชี้ว่า ยังไม่ใช่การ “ปลดล็อกการผลิตสุรา” อย่างแท้จริง เป็นเพียงการ “เปลี่ยนล็อก” จากข้อจำกัดเรื่องปริมาณการผลิตขั้นต่ำ เป็นจำนวนแรงม้าและเครื่องจักร
และหากผ่านกฎหมาย “สุราก้าวหน้า” ได้ “ไม่ว่าจะโรง (ผลิต) ใหญ่ หรือโรง (ผลิต) ขนาดเล็ก จะอยู่ในกติกาเดียวกัน” นายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุเมื่อต้นเดือน พ.ย. 2565 เพราะกฎหมายสุราก้าวหน้า ไม่กำหนดแรงม้า จำนวนคนงาน กำลังผลิตขั้นต่ำ และเงื่อนไขที่เป็นการกีดกันใด ๆ
“กฎหมายสุราก้าวหน้า ไม่ใช่แค่กฎหมาย แต่เป็นโปรเจ็กต์การเมือง” เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ว่าที่ ส.ส. แบบแบ่งเขต พรรคก้าวไกล วัย 34 ปี กล่าวกับรอยเตอร์ ที่บาร์ของเขาใน กทม.
“ผมกำลังรวบรวมเสียงสนับสนุนจากทุกฝ่าย เพื่อทำให้นโยบายนี้สำเร็จอย่างราบรื่นที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเรารู้แล้วว่าเราไม่ใช่ฝ่ายค้าน แต่เราเป็นรัฐบาล” เขาระบุ ซึ่งเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. เท่าพิภพ ได้โพสต์ภาพที่ถ่ายร่วมกับ ต็อด-ปิติ ภิรมย์ภักดี ทายาทตระกูลผู้ผลิตเบียร์รายแรกและหนึ่งในรายใหญ่ที่สุดของไทย คือ บุญรอด
“เราทั้งคู่เริ่มเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคต อาจเป็นเพราะพวกเราไม่ใช้กำแพง แต่คือกังหันลม ที่พร้อมโอบรับความเปลี่ยนแปลง” เท่าพิภพ ระบุในโพสต์
สุราชุมชน ในยุคสุราก้าวหน้า จะมีหน้าตาอย่างไร
ว่าที่ ส.ส.กทม พรรคก้าวไกลผู้หลงใหลในคราฟต์เบียร์ เคยสรุปกฎกระทรวงว่าด้วยการผลิตสุรา 2565 ว่า “ทำเหมือนปลดโซ่ข้อมือ แล้วเอาตรวนมาตีเท้า” เพราะ
- Brewpub – หากทำตาม พ.ร.บ. ที่กำหนด 50 แรงม้า หรือกำหนดอื่นตามอธิบดีกำหนด ซึ่งข้อกำหนด 50 แรงม้า จะถือว่ามากกว่าขั้นต่ำ 100,000 ลิตรของฉบับก่อนด้วยซ้ำ
- โรงเบียร์บรรจุขวด – แม้จะไม่มีปริมาณการผลิตขั้นต่ำ แต่ต้องมีไลน์บรรจุที่ยิงสติ๊กเกอร์ติดได้ บังคับทำ EIA ทุกขนาด ซึ่งมีค่าใช้จ่าย 3-5 ล้านบาท และใช้เวลา 2-3 ปี แม้แต่โรงเบียร์ขนาดเล็ก ยังต้องถูกบังคับทำ EIA
- สุรากลั่น – ไม่แก้อะไรให้เลย
- สุรากลั่นพิเศษ อาทิ วิสกี้ ลิเคียว จิน รัม – ไม่ได้ปลดล็อก ยังต้องผลิตขั้นต่ำ 30,000 ลิตรต่อวัน
หากเงื่อนไขเหล่านี้หายไปภายใต้นโยบายผลักดัน “สุราก้าวหน้า” ของพรรคก้าวไกล ทวีชัย เชื่อว่า โรงกลั่นสุราของเขาจะผลิตสุราได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เริ่มจาก “งานล้างขวด ที่ไม่ต้องมานั่งยอง ๆ ล้างทีละขวด”
ข้อกำหนดเรื่องปริมาณแรงม้าที่หายไป จะทำให้สายการผลิตใช้เครื่องจักรได้มากขึ้น ส่วนคนงานที่เป็นมนุษย์ ก็จะยกระดับทักษะเป็นผู้ควบคุมเครื่องจักร และอื่น ๆ แทน ส่วนข้อจำกัดเรื่องจำนวนคนหากยกเลิกไป ทวีชัย ก็จะจ้างพนักงานได้มากขึ้น ถือเป็นการสร้างงานคุณภาพเพิ่มขึ้นมาในชุมชน
ส่วนสำคัญคือ ข้อกำหนดว่า “สุรากลั่นพิเศษ” ต้องผลิตขั้นต่ำ 30,000 ลิตรต่อวัน ทำให้โรงกลั่นสุราชุมชน ผลิตได้แต่เหล้าขาว เหล้า “สังเวียน” ที่ถือเป็นเหล้ารัมจากอ้อย ยังต้องถูกกำหนดเป็นสุราขาว ทวีชัย จึงมองว่า หากผ่านกฎหมายสุราก้าวหน้าได้ โรงกลั่นสุราชุมชนจะผลิตสุราได้หลากหลายมากขึ้น
ไม่ว่าจะ “ลิเคียว ที่เรียกว่า สุราหวานแต่งกลิ่น เราอาจมีเหล้าสี คือวิสกี้ บรั่นดี รัมสีน้ำตาล ที่คนเขาชอบคิดว่านี่แหละคือเหล้าแพง” เขายังพูดถึงการต่อยอดสมุนไพรไทย ในการทำสุราประเภท “จิน” ซึ่งเปลี่ยนสูตรได้หลากหลาย
ไปจนถึงการปลดล็อกความคิดที่ดูถูกดูแคลน “ยาดอง” ซึ่งก็เป็น เหล้าลิเคียวสมุนไพร ยกตัวอย่าง “เยเกอร์ไมสเตอร์” ยี่ห้อดังจากเยอรมนี ซึ่งพูดกันตามจริง “มันเป็นยาดองครับ ยาดองเยอรมัน”
บีบีซีไทยถามเขาว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงวันนี้ รัฐบาลออกกฎข้อบังคับ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทุนแบบผูกขาดอุตสาหกรรม หรือไม่ เขานิ่งไปครู่หนึ่ง ก่อนตอบว่า
“เฮ้ย นี่มันเหมือนบังคับไม่ให้โตเลยนี่หว่า” เขาทวนคำพูดของญาติคนหนึ่ง เมื่อเขาอธิบายถึงข้อกำหนดในกฎกระทรวงให้ฟัง
“ทำไมเศรษฐีระดับแสนล้านต้องมา หยุมหยิมกับเงินระดับล้านสองล้านด้วย” ทวีชัย ทิ้งท้าย ส่วนด้านหลังเขานั้น คนงานก็ยังทำกิจกรรมซ้ำ ๆ เดิม ๆ เหมือนที่เราเห็นตั้งแต่ก่อนเริ่มบทสัมภาษณ์
ที่่มา ฺBBC News ไทย