สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ได้มีแถลงการณ์เป็นภาษาอังกฤษและเมียนมา หลังเข้ายึดครอง จ.เมียวดี ติดกับ อ.แม่สอด จ.ตาก ได้ทั้งหมดเมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า KNU ได้ร่วมกับกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) องค์การป้องกันชาติกะเหรี่ยง (KNDO) และกองกำลังป้องกันประชาชน (PDF) เข้ายึดฐานบัญชาการทางยุทธศาสตร์ของกองทัพเมียนมาในกองบัญชาการภาควันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.2567 และจนถึงวันที่ 10 เม.ย.ได้โจมตีกองพันทหารราบที่ 275 ของเมียนมาที่ประจำการอยู่ในเมืองเมียวดี แต่ได้มีทหารเมียนมาบางส่วนล่าถอยไปประจำการและหลบหนีไปอยู่ใกล้สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2
ซึ่งนับตั้งแต่เข้ายึดครองได้หลายฐานที่มั่น กองกำลังพันธมิตรของพวกเราก็ได้สกัดกั้นการเสริมกำลังของกองกำลังที่ส่งมาโดยสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) เมียนมา เพื่อไม่ให้สูญเสียเมียวดี กระนั้นก็มีการดำเนินการเพื่อให้พื้นที่เมียวดีอยู่ในสถานะที่ปลอดภัย กระตุ้นประชาชนให้อยู่อาศัยและเดินทางไปมาโดยปฏิบัติตามมาตราการรักษาความปลอดภัย
กระทั่งเมื่อเมียวดีมีความปลอดภัยแล้วทาง KNU โดยการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่จะสร้างระบบบริหารพื้นที่เพื่อป้องกันธุรกิจผิดกฎหมาย การค้าของเถื่อน การค้ามนุษย์ มีการสร้างความมั่นคงและบังคับใช้กฎหมาย บริการสาธารณะที่จำเป็น ความสะดวกในการขนส่งสินค้าเข้าไปในเมียวดีในจุดที่เป็นไปได้แม้ว่าจะมีความท้าทายก็ตาม เรามีจุดยืนคือ
1.KNU กังวลอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของประชาชนตามชายแดนไทย-เมียนมา ความมั่นคงชายแดน การเข้าถึงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งเราจะทำให้ดีที่สุดเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้
2.KNU มุ่งมั่นที่จะสร้างและรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพความปลอดภัยและความมั่นคงชายแดน จึงกำลังเตรียมความพร้อมเท่าที่จำเป็นเพื่อความต่อเนื่องของระเบียบกฎเกณฑ์ในกิจการข้ามพรมแดนด้วยแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในระดับภูมิภาค
3.เพื่อให้เกิดความสงบและความปลอดภัยในความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งฝั่งไทยและเมียนมา KNU จึงกำลังทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายกับทางการประเทศไทย องค์กรพันธมิตรทั้งระดับท้องถิ่นและระหว่างประเทศ รวมถึงชาวกะเหรี่ยงตามแนวชายแดน องค์กรและการเชื่อมโยงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย
4.เราเคารพให้เกียรติสหายของเราทุกคนที่เสียสละชีวิต เลือดและหยาดเหงื่อเพื่อกำจัดเผด็จการทุกรูปแบบรวมถึงเผด็จการทหาร เพื่อสถานปนาสหภาพประชาธิปไตยของรัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยพลเรือน ซึ่งเคารพในความหลากหลายและไม่แบ่งแยก ทาง KNU จะยังคงต่อสู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกับองค์กรชาติพันธุ์และพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยทั้งหลาย และขอเรียกร้องให้ประชาชนชาว kawthoolei (ชื่อของรัฐที่เคยนำเสนอตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948) ชาวเมียนมา ได้มีส่วนร่วมและต่อสู้ต่อไปอย่างไม่ลดละ