เชียงใหม่ ทำ MOU ขับเคลื่อนให้เชียงใหม่ เป็นเมือง Low Carbon City

จังหวัดเชียงใหม่ ทำ MOU ร่วมกับเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาชน ขับเคลื่อนให้เชียงใหม่ เป็นเมือง Low Carbon City ภายใต้โครงการสร้างความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 

ที่ห้องประชุมทองกวาว สำนักบริหารวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการ Chiang Mai Low Carbon City ภายใต้โครงการสร้างความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดขึ้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ มีความรู้และเพิ่มความตระหนักเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพพูมิอากาศ สาเหตุ ผลกระทบ และแนวทางแก้ไข เกิดความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับความสำคัญของการดำเนินการเชิงนโยบายและการสนับสนุนจากสาธารณะ อีกทั้งเป็นการเปิดเวทีให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกัน โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ประกอบด้วย ผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และภาคประชาชน กว่า 220 คน เข้าร่วมสัมมนา

โอกาสนี้ นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้แสดงเจตจำนงลงนามบันทึกข้อตกลงในการขับเคลื่อน Chiang Mai Low Carbon City ร่วมกับ 4 ภาคส่วน ประกอบด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสถาบันการศึกษา และภาคประชาชน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายให้จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเมือง Low Carbon City มีความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ.2060 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ.2065

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงต่อประชาคมโลก ในการตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ในที่ประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระดับผู้นำ ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร โดยตั้งเป้าหมายการปล่อยการเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ.2065 ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ได้ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในภารกิจนี้ โดยแต่งตั้งคณะทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพพูมิอากาศระดับจังหวัดขึ้น พร้อมทั้งมีการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของจังหวัดเชียงใหม่ในปี พ.ศ.2562 ซึ่งพบว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 5.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ขณะเดียวกันมีการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก จากภาคป่าไม้ประมาณ 5.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ขณะเดียวกันในปี พ.ศ.2573 คาดว่าจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากราว 6.3 ล้าน ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งเพิ่มสูงถึง 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด บอกว่า อากาศสะอาดเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงได้รับตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา รัฐบาลกำหนดให้การแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่อง ฝุ่น PM 2.5 ที่นับวันทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน เศรษฐกิจและสังคมโดยรวม โดยตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน หรือคณะกรรมการ PM 2.5 แห่งชาติ เป็นกลไกเร่งรัดการจัดทำแผนและการดำเนินมาตรการเพื่อลดฝุ่นควัน PM 2.5 ทั้งระบบ นอกจากนี้ รัฐบาลได้ถอดบทเรียนเพื่อหาทางป้องกันในฤดูฝุ่นที่จะมาถึง ระหว่างที่กำลังรอ พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ซึ่งคณะกรรมาธิการกำลังเร่งพิจารณา

พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะกำหนดกลไกบริหารจัดการ และควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ มีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาในทุกระดับ บริหารจัดการเชิงพื้นที่ กำหนดมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดครอบคลุมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทุกรูปแบบ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ภาคคมนาคมขนส่ง ภาคการเผาในที่โล่ง ภาคป่าไม้ และหมอกควันข้ามแดน มีการกำหนดมาตรการเร่งด่วน เครื่องมือ หรือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ รวมถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบทุกภาคส่วน ขณะนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการ เพื่ออากาศสะอาด อยู่ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คาดว่าจะแล้วเสร็จ และส่งกลับสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมที่จะถึงนี้ ให้ทันบังคับใช้ ในไตรมาส 4 ปีนี้ เพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์เป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย นายจักรพล กล่าว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า