ศาลพิพากษา ภาคปชช. ชนะคดีฟ้อง ‘บิ๊กตู่’ ปล่อยเชียงใหม่จมฝุ่น PM2.5
เมื่อวันที่ 19 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองเชียงใหม่ ได้พิพากษาให้กลุ่มภาคประชาชนผู้ฟ้องชนะคดี ที่กล่าวหาอดีตนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือล่าช้า ส่งผลกระทบต่อประชาชน และได้ให้รัฐบาลจัดทำแผนแก้ไขปัญหาภายใน 90 วัน และสามารถอุทธรณ์ภายใน 30 วัน พร้อมกับมีคำสั่งทำแผนฉุกเฉินแก้ไขปัญหาฝุ่น 90 วัน บูรณาการทุกภาคส่วน
โดยบรรยากาศในวันนี้ได้มีนักวิชาการ นักกฎหมาย นายแพทย์ และภาคประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ฟ้องคดี ได้เข้ารับฟังคำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่ คดีการทำงานล่าช้าหรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐจัดการปัญหา PM2.5 โดยผู้ฟ้อง ได้ฟ้องร้องอดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ คณะกรรมการกำกับตลาดหุ้น ให้ดำเนินการตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2539 และมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535
โดยให้รัฐบาล ราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนฉุกเฉิน ออกมาตรการ นโยบายจัดการ/ควบคุม/ระงับ หรือบรรเทา สถานการณ์วิกฤตฝุ่นควัน PM2.5 และผลร้ายจากมลพิษทางอากาศ PM2.5 ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตประชาชน
ทั้งนี้หลังจากการรับฟังคำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่ ประชาชน ผู้แทนได้วิงวอนขอรัฐอย่าอุทธรณ์ แต่ขอให้นำเวลาไปขับเคลื่อนแผนแก้ไข เนื่องจากเป็นคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นที่เห็นชัดว่ามีความล่าช้า ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล ตัวแทนกลุ่มผู้ฟ้องร้อง ได้กล่าวถึง ประเด็นแรกเป็นที่ยอมรับว่าเรื่องฝุ่นเป็นปัญหาวิกฤตที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คนอย่างแท้จริง ประเด็นที่สอง รัฐบาลประยุทธ์ ละเลยและปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า หมายความว่าการประกาศแก้ไขปัญหาวาระแห่งชาติที่ผ่านมาซึ่งล่าช้าและไม่ทันการ ดังนั้นการรับมือในครั้งนี้ต้องมีการจัดการ มีการสั่งการในรูปแบบใหม่ ให้ต่างจากราชการแบบเดิม
ซึ่งคำพิพากษาครั้งนี้ได้ยืนยันว่าการทำงานล่าช้าจริง และประเด็นที่ 3 คำพิพากษาในวันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นประชาชนจะต้องดำเนินงานต่อเนื่อง เพราะว่าคำสั่งของศาลได้สั่งให้มีการจัดทำแผนเพื่อรับมือกับฝุ่นภายใน 90 วัน หลังจากที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด จำเป็นจะต้องร่วมมืออื่น ๆ ทำการตรวจสอบติดตาม หากมีการอุทธรณ์ก็จให้การดำเนินงานยืดยาวออกไปอีก
“ตอนนี้ใกล้หน้าฝุ่นควัน PM2.5 กลับมาแล้ว ยังไงพวกเราก็ต้องผลักดันต่อคำพิพากษานี้มีนัยสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้น เราไม่อาจฝากความหวังไว้ให้ภาครัฐเพียงอย่างเดียว เราต้องให้ความใส่ใจ อาศัยความร่วมมือ แรงผลักดันจากทุกภาคส่วนเป็นส่วนสำคัญ เพื่อที่จะทำให้เป็นประโยชน์แก่สังคมโดยรวม เราคงต้องชี้ให้เห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลก่อนหน้าทำอะไรไม่ได้เรื่องเลย
หวังว่าคำพิพากษาในครั้งนี้จะเป็นบทเรียนแก่รัฐบาลที่นำโดยนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จะดำเนินการอย่างรอบด้านมากขึ้น บูรณาการงานต่าง ๆ มากขึ้น อย่าใช้แผนเดิมในการแก้ไขปัญหาฝุ่น เพราะที่ผ่านมายืนยันแล้วว่าใช้การไม่ได้อย่างชัดเจน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือ และเราต้องการให้หน่วยงานรัฐและเอกชน ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมเพื่ออากาศสะอาด”
นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น เปิดเผยถึง ผลคำพิพากษาเป็นไปตามที่คาดหวัง และเริ่มต้นที่จะฟ้องคดี กำหนดประเด็น เสียดายอย่างเดียวที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และผู้ถูกฟ้องที่ 4 คณะกรรมการกำกับทุน ไม่ได้รับคำสั่งพิพากษาจากศาลชัดเจน อย่างไรก็ตามผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีอำนาจสั่งการได้ถือว่าเกี่ยวข้องโดยตรง
คาดหวังว่าคณะกรรมการฯสองหน่วยงานจะช่วยติดตาม บริษัทเอกชนที่จะมีผลหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำให้เกิด PM2.5 ซึ่งคำพิพากษาครั้งนี้ ชัดเจนขึ้นกว่าครั้งก่อนๆ เช่น เรื่องการประกาศให้พื้นที่ควบคุมมลพิษ หรือ ศาลสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ศาลกำหนดมาตรการที่ชัดเจน ให้ดำเนินการทำแผนฉุกเฉินภายใน 90 วัน ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดหวัง อยากให้รัฐบาลมีความชัดเจน เรื่องแผนปฏิบัติการ ที่เป็นรูปธรรม และมีหน่วยงานที่เข้ามาบูรณาการ มีอำนาจในการตัดสินใจ ชัดเจน เร่งด่วน เพื่อประชาชนสามารถจะเข้าใจ ในกระบวนการดำเนินงานของรัฐ เพื่อบรรลุเป้าหมายมลพิษทางอากาศ ของภาคเหนือ ที่จะให้เกิดขึ้น
และมองว่าหากเห็นคดีนี้เป็นเรื่องสำคัญ ไม่จำเป็นต้องอุทธรณ์ให้เกิดคำพิพากษา ยืดเยื้อ เอาคำพิพากษาของศาลชั้นต้น บังคับได้เลย และถ้ารัฐบาลปัจจุบันมีแผนแล้ว ก็ให้แสดงออกมาเลย ว่าเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับคำพิพากษาก็แสดงออกมาว่าจะได้ผล ประชาชนจะได้มีสิทธิ์ตรวจสอบ
นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า ดีใจกับการพิพากษาในครั้งนี้ เพราะเห็นแนวทางแก้ปัญหาระยะยาว ก่อนหน้านี้มีหลายคดีที่อาจออกมาผลกระทบไม่ชัดเจน ทำให้ฝ่ายทีมแพทย์ไม่สบายใจเกี่ยวกับการสื่อสาร ครั้งนี้เป็นที่ชี้ชัดว่า ผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นที่ยอมรับในระดับขั้นของศาลปกครอง เป็นครั้งแรกที่เราเริ่มมองเห็น โอกาสที่จะหายใจได้มากขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตามยังมองกลไกแก้ไข น่าจะต้องไปถึงเรื่องของบริษัททุนที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย หวังว่าทุกภาคส่วนจะช่วยกันป้องกันและให้ความร่วมมือในการจัดการ
– Website : https://www.matichon.co.th