ในช่วงเย็นของ “วันพญาวัน” อันเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยตามจันทรคติ ณ วัดบ้านมอญ ต้นโพธิ์แฝด อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เมื่อชาวบ้านไทเขินจาก 7 หมู่บ้าน พร้อมใจกันจัดขบวนแห่ไม้ค้ำสะหลีอันงดงาม เพื่อสักการะบูชาเสาเขินและดำหัวผู้สูงอายุ เนื่องในประเพณีปี๋ใหม่เมืองที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ
สันกำแพง, เชียงใหม่: เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 16 เมษายน 2568 ชาวบ้านไทเขินจาก 7 ป๊อก (7 หมู่บ้าน) ในตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เทศบาลตำบลสันกลาง กลุ่ม อสม. และผู้เข้าร่วมงาน ร่วมกันสืบสานประเพณีอันงดงามเนื่องในเทศกาลปี๋ใหม่เมือง (สงกรานต์) ตามจันทรคติ “วันพญาวัน” ด้วยการสักการะบูชาเสาเขิน แห่ไม้ค้ำสะหลี และดำหัวขอพรปีใหม่จากผู้สูงอายุในชุมชน ณ วัดบ้านมอญ ต้นโพธิ์แฝด
บรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยความอบอุ่นและรอยยิ้ม ชาวบ้านต่างพร้อมใจกันแต่งกายด้วยชุดไทเขินอันเป็นเอกลักษณ์ทั้งชายและหญิง จัดขบวนแห่อย่างสวยงาม โดยมีพานพุ่ม ข้าวตอก ดอกไม้นำหน้า ขบวนแห่เคลื่อนไปยังวัดบ้านมอญ ต้นโพธิ์แฝด พร้อมกับการฟ้อนรำแบบไทเขินอันอ่อนช้อย
เมื่อขบวนแห่เดินทางถึงวัด ได้นำไม้ค้ำสะหลี หรือไม้ค้ำต้นโพธิ์ ซึ่งตกแต่งอย่างสวยงาม ถวายแด่พระครูสังฆภารวิมล เจ้าอาวาสวัดบ้านมอญ ต้นโพธิ์แฝด เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา จากนั้น ชาวบ้านได้นำไม้ค้ำไปค้ำยันไว้ที่ต้นโพธิ์แฝด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นสิริมงคลและความเจริญรุ่งเรือง เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเป็นมงคลแก่ตนเอง ค้ำจุนชีวิตให้เจริญก้าวหน้า และเป็นการค้ำจุนพระพุทธศาสนาในช่วงปีใหม่เมือง
ประเพณีการแห่ไม้ค้ำสะหลี เป็นความเชื่อของชาวล้านนาที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน คำว่า “สะหลี” ในภาษาล้านนาหมายถึงต้นโพธิ์ ซึ่งมาจากคำว่า “ศรี” อันหมายถึงต้นไม้ศรีมหาโพธิ์ การนำไม้ไปค้ำยันต้นโพธิ์ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า เชื่อว่าจะช่วยค้ำจุนชีวิตให้ประสบแต่สิ่งดีงาม เป็นมงคลตลอดทั้งปี สมดังชื่อ “ค้ำจุน” เปรียบเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทรแห่งชีวิต ไม้ค้ำที่นำมาใช้อาจเป็นไม้ง่ามที่เคยใช้ในพิธีสืบชะตา หรือไม้ที่จัดหามาเป็นพิเศษ ซึ่งถือเป็นการแสดงออกถึงความศรัทธาและความร่วมมือของชาวพุทธในการค้ำชูพระพุทธศาสนาอีกด้วย
นอกจากพิธีแห่ไม้ค้ำแล้ว ในช่วงท้ายของงานยังมีการดำหัวปี๋ใหม่เมือง ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพและขอพรจากผู้สูงอายุในชุมชน เป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่แสดงถึงความกตัญญูและความผูกพันในชุมชนชาวไทเขินแห่งอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ได้อย่างน่าประทับใจ