GULF-CMWTE หนุนชุมชนทุ่งยาว อำเภอดอยสะเก็ด สู้ PM 2.5 ฟื้นป่า

GULF CMWTE ผนึกกำลังชุมชนบ้านทุ่งยาว ดอยสะเก็ดฯ ลด PM 2.5 ทำแนวกันไฟ คืนสมดุลให้ป่าด้วยจุลินทรีย์  “ท่ามกลางวิกฤต PM 2.5 ที่คุกคามภาคเหนือ ชุมชนบ้านทุ่งยาว อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ได้ลุกขึ้นผนึกกำลังกับภาคเอกชนและหน่วยงานต่างๆ สร้างปรากฏการณ์ ‘ทุ่งยาวโมเดล’ ด้วยการทำแนวกันไฟและฟื้นฟูระบบนิเวศด้วยจุลินทรีย์ ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

วันที่ 23 มีนาคม 2568 ปัญหาไฟป่าและ PM 2.5 ในภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงฤดูแล้ง ยังคงเป็นปัญหาวิกฤตอย่างต่อเนื่อง ชุมชนที่โดดเด่นในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ คือ ชุมชนบ้านทุ่งยาว ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ นำโดยกำนันสมพงค์ เจริญศิริ กำนันตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ และได้ผนึกกำลังกับกลุ่มบริษัท GULF และโครงการโรงไฟฟ้าขยะ บริษัทเชียงใหม่ เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี จำกัด (CMWTE) นำโดยนายจิรศักดิ์ มีสัตย์ ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ฯ และ ดร.กฤษณ์ พงษ์เทพิน นักวิชาการ ในการร่วมส่งเสริมกับชุมชน จัดโครงการฯ และกองกำลังทหารจาก พัน.ป.7 นำโดยร้อยตรีมีนา แก้ววรรณะ หัวหน้าชุดปฏิบัติการผาลาด นำทหารเข้าร่วมกว่า 40 นาย

โครงการ “ทำแนวกันไฟและคืนสมดุลให้ป่าด้วยจุลินทรีย์” เป็นโครงการที่กำนันสมพงค์ เจริญศิริ และชาวบ้านได้ปฏิบัติการดูแลมาอย่างต่อเนื่องทุกปี สำหรับปีนี้ ภาคเอกชนและทหารได้เข้าร่วมด้วย ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากปี 2567 ที่บริษัท GULF และ CMWTE ได้นำองค์ความรู้ด้านฐานชีวภาพและจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ มาจัดอบรมให้กับผู้นำชุมชนและประชาชน หมู่ 8 บ้านทุ่งยาว ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ในโครงการ “คืนสมดุลให้ป่าด้วยจุลินทรีย์” และสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้และธนาคารจุลินทรีย์ชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชุมชนมีองค์ความรู้เกี่ยวกับฐานชีวภาพและระบบนิเวศฯลฯ และสามารถเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ นำมาช่วยเสริมศักยภาพในการย่อยสลายใบไม้จากการทำแนวกันไฟป่าให้มีการย่อยสลายได้ดียิ่งขึ้น ลดการเป็นเชื้อเพลิงของไฟป่า และสลายเป็นอินทรียวัตถุและธาตุอาหารสำหรับต้นไม้ในป่า ช่วยให้ดินมีคุณภาพ และเสริมสร้างการกระจายของจุลินทรีย์ในป่าที่เสื่อมโทรมจากการเกิดไฟป่า การตัดไม้ทำลายป่าที่เสียสมดุลให้กลับมาฟื้นฟูได้ดียิ่งขึ้น วันนี้เป็นอีกกิจกรรมต่อเนื่องทุกปีของชุมชน ที่ร่วมใจกันทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่าและลด PM 2.5 และฟื้นฟูป่าด้วยจุลินทรีย์ ณ ป่าชุมชนบ้านทุ่งยาว ตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

นายจิรศักดิ์ มีสัตย์ กล่าวว่า บริษัท GULF และ CMWTE ตระหนักว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และมีนโยบายชัดเจนในการร่วมกับชุมชนรักษาสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน ป่าชุมชนนับเป็นแหล่งทรัพยากรทางเศรษฐกิจ การอาชีพ และแหล่งอาหารที่สำคัญของชุมชน เราจึงอาสาเข้ามาร่วมสนับสนุนชุมชน รวมทั้งประสานองค์ความรู้จากนักวิชาการและหน่วยงานต่างๆ เข้ามาเสริมสร้างศักยภาพในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชุมชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะสามารถพัฒนาต่อไปอย่างยั่งยืนได้ เรารู้สึกยินดีที่เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชน และยินดีสนับสนุนชุมชนต่อไป

นายสมพงค์ เจริญศิริ กำนันตำบลป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ชุมชนของเรามีวิถีชีวิตอาศัยและพึ่งพาป่าชุมชนมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ป่าไม้คือชีวิตของพวกเราทุกคน ช่วงที่ผ่านมามีปัญหาการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมฯ จึงได้รวมกลุ่มกันอนุรักษ์ฟื้นฟูป่ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการทำแนวกันไฟป่าและการเฝ้าระวังการทำลายป่าฯ จนมีผลงานที่สามารถขึ้นทะเบียนผืนป่าแห่งนี้เป็นป่าชุมชนที่ดูแลโดยชุมชน ตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน และอยู่ระหว่างการทำโครงการคาร์บอนเครดิต รวมทั้งการทำแนวกันไฟป่าเป็นประจำทุกปี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น และเอกชน

ประการหนึ่งที่สำคัญในกิจกรรมครั้งนี้ คือการส่งเสริมสนับสนุนจากบริษัทเชียงใหม่ เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี จำกัด และหน่วยงานทางวิชาการ ที่นำองค์ความรู้ด้านฐานชีวภาพและจุลินทรีย์ฯ เป็นมิติใหม่ที่เสริมการดำเนินงานเชิงคุณภาพต่อระบบนิเวศได้เป็นอย่างดี เพราะเดิมเรามองเชิงกายภาพและปฏิบัติการบนพื้นดินเป็นหลัก ยังไม่มีความรู้ในเชิงชีวภาพ ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญมากต่อระบบนิเวศ ทำให้เรามองมิติของการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้และเข้าใจระบบนิเวศป่าไม้มากยิ่งขึ้น ซึ่งมีแนวทางสู่การพัฒนาป่าชุมชนเชิงชีวนิเวศที่ยั่งยืนต่อไป ขอขอบคุณ GULF และ CMWTE และหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาร่วมสนับสนุนชุมชน ซึ่งเป็นกำลังใจและพลังที่จะขับเคลื่อนมากขึ้น ขอขอบคุณ

ดร.กฤษณ์ พงษ์เทพิน กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้เริ่มต้นจากการทำแนวกันไฟป่า และในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึง เราจะนำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยทั้งในระดับสากลและประเทศไทย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น เกี่ยวกับเชื้อเห็ด “ไมคอร์ไรซ่า” ซึ่งเป็นเชื้อราที่มีความสำคัญต่อระบบเครือข่ายการเชื่อมโยงการเจริญเติบโตร่วมกันของรากพืชไม้ป่า และจุลินทรีย์ในดินชนิดต่างๆ ที่จะช่วยการเจริญเติบโต และสร้างภูมิคุ้มกันโรคพืช ยังช่วยสลายอินทรียวัตถุต่างๆ เป็นธาตุอาหารให้กับพืช ผ่านการอาศัยเกื้อกูลกับระบบรากพืช คือเชื้อราไมคอร์ไรซ่ากับรากต้นไม้ ซึ่งอาศัยอยู่ร่วมกันตลอดอายุขัยของพืช เป็นต้นกำเนิดของเห็ดป่านานาชนิด เช่น เห็ดเผาะ เห็ดไคล เห็ดระโงก เห็ดตับเต่า เห็ดโคนปลวกฯลฯ

ศูนย์เรียนรู้และธนาคารจุลินทรีย์ได้ร่วมกับชุมชนวางแผนในการนำเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซ่ากลับคืนสู่ป่า สร้างความสมดุล มีการเพาะเชื้อใส่ในกล้าไม้ปลูกเสริมในป่า และนำเชื้อเห็ดป่าไปกระจายสู่บริเวณรากต้นไม้ในป่า เพิ่มจุลินทรีย์ในผืนป่าเสื่อมโทรม และจะนำเมล็ดพันธุ์กล้าไม้ป่านำมาแช่จุลินทรีย์ เพิ่มอัตราการงอก และนำมาใส่ปั้นกับก้อนดินจุลินทรีย์และเชื้อเห็ด เพื่อนำไปกระจายสู่ป่าในช่วงฤดูฝนด้วย และยังมีแผนการนำเชื้อเห็ดป่าต่างๆ ให้ชุมชนนำไปเพาะในป่าใกล้ชุมชนและสวนไร่นา เพื่อเป็นแหล่งอาหารประเภทเห็ดในชุมชนครอบครัว จะสามารถทดแทนการเผาป่าหาเห็ดให้ลดลง อันเป็นสาเหตุหนึ่งในการเกิดไฟป่าด้วย เป็นแนวทางในการลดปัญหาไฟป่าและลดผลกระทบจาก PM 2.5 ได้ต่อไป ซึ่งความสำคัญอยู่ที่ความรู้และการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยเฉพาะศูนย์เรียนรู้ฯ ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ รวมถึงความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ จะช่วยเสริมสร้างพลังได้มากยิ่งขึ้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า