มวลชนครึ่งหมื่นตั้งขบวนบุกศาลากลางขอพบนายกฯ ร้องให้รัฐบาลทบทวนออก พระราชกฤษฎีกาป่าอนุรักษ์ฯ และเร่งแก้ไขใน 3 เดือน รองนายกฯ”ประเสริฐ”รุดเจรจา
เชียงใหม่ 29 พ.ย – ที่บริเวณศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่กลุ่มมวลชนสมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่ากว่า 5,000 คน ที่มาปักหลักรอตั้งแต่วันนี้ได้ขอพบและยื่นหนังสือต่อนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ก่อนที่การประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่จะเริ่มขึ้นที่หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อคัดค้านพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และการดูแลทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่คณะรัฐมนตรีได้มีการเห็นชอบไปเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ โดยชี้ว่า กฎหมายดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างหนักต่อวิถีชีวิตของชุมชนดั้งเดิมที่อาศัยในพื้นที่สูงมานานกว่า 300 ปี ประชาชนที่อยู่กับป่าต่างกังวลในรายละเอียดของข้อกฎหมายดังกล่าวที่จะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและเกิดข้อขัดแย้งรุนแรงขึ้นระหว่างรัฐกับประชาชน
ทั้งนี้นายประเสริฐ จันทรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพร้อมผู้เกี่ยวข้องได้มาพบกับกลุ่มผู้ชุมนุมพร้อมรับข้อเสนอเพื่อนำไปพิจารณาร่วมกับตัวแทนของกลุ่มมวลชนในครั้งนี้ โดยทางกลุ่มผู้ชุมนุมยืนยันว่า จะปักหลักรอคำตอบความชัดเจนโดยสันติวิธี
สำหรับข้อเสนอของสมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่าที่ยื่นต่อรัฐบาลมี 3 ประการดังนี้
- ขอให้ยุติการนำพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ไปประกาศใช้กับพื้นที่ป่าอนุรักษ์อื่นๆ จนกว่าจะมีการปรับแก้กฎหมาย ในส่วนที่มีการประกาศใช้ไปแล้ว 6 แห่งนั้น ให้มีกระบวนการติดตามผลการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วม เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับภาครัฐ
- ให้รัฐบาลและคณะรัฐมนตรีเร่งปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและใช้กลไกรัฐสภาที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้แทนประชาชนมีหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติตามระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว
- ให้รัฐบาลจัดตั้งกลไกในรูปแบบที่เป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงานจัดเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่สามารถนำไปปรับปรุงแก้ไขให้ พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับได้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน