ศึกแย่งน้ำชาวนา-สวนส้ม อ.แม่อายร้อนระอุอีกครั้ง หน.อุทยานฯสั่งรื้อท่อดักน้ำของสวนส้มที่เป็นปมขัดแย้งมานานนับทศวรรษตามคำสั่งศาลปกครองใน 15 วัน ฝั่งสวนส้มยังคาใจและขอผ่อนปรนต่อพร้อมสร้างเงื่อนไขต่อรองค้านสร้างอ่างเก็บน้ำ ถกจนวุ่นที่ประชุม
เชียงใหม่ 14 ก.พ.- ที่ห้องประชุมมะลิกาที่ว่าการ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นางสาวพัฒน์นภา พานมะ ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง เป็นประธานการประชุมการแก้ไขปัญหาการใช้น้ำในพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่สาว ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก ตำบลแม่สาว อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้เกี่ยวข้องทั้ง นายนพรัตน์ นวลอนงค์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก ผู้ประกอบการสวนส้มกับชาวนาในพื้นที่เกี่ยวกับปัญหาพิพาทมาตั้งแต่ปี 2559 เรื่องการใช้น้ำกรณีการรื้อถอนท่อ pvc ที่กระทำผิดกฎหมายในเขตอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก อันสืบเนื่องมาจากคดีที่ศาลปกครอง จ.เชียงใหม่พิพากษา ให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ทำการรื้อถอนท่อออกจากเขตอุทยานฯ หลังมีคำพิพากษาถึงที่สุดภายใน 30 วัน ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 2567
ล่าสุดนายนพรัตน์ นวลอนงค์ หน.อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ปิดประกาศหนังสือให้ผู้ประกอบการสวนส้มในเขตอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก ให้ทำการรื้อถอนท่อ pvc ที่วางท่อดักน้ำในเขตอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปกที่ผิดกฎหมายมีกำหนด 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ 3-18 ก.พ.68 หลังจากนั้นถ้ายังไม่มีการรื้อถอนท่อออกจากเขตอุทยานฯ ทางเจ้าที่จะเข้าทำการรื้อถอนท่อออกเอง โดยจะต้องคิดค่ารื้อถอนจากเจ้าของสวนส้มที่ยังไม่ดำเนินการใดๆตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ โดนยืนยันต่อที่ประชุมว่า หลังจากได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานฯ เมื่อปลายปี 2567 ก็มาขึ้นศาลปกครองด้วยตนเองช่วงเดือนธันวาคมจนล่าสุดได้ออกประกาศเรื่องนี้ให้มีผล 15 วันในการรื้อถอนท่อดังกล่าวตามคำพิพากษาของศาล
นายวิชัย วงค์หลวง ประธานกลุ่มผู้ประกอบการสวนส้ม กล่าวว่า เข้าใจกระบวนการยุติธรรม แต่อยากจะขอทางอุทยานฯ ผ่อนปรน การวางท่อใช้น้ำไปก่อนไม่เช่นนั้นสวยส้มเขาจะตาย โดยให้ปฏิบัติตาม mou ที่เคยตกลงกันไว้จะได้หรือไม่ และกลุ่มผู้ประกอบการสวนส้ม ขอให้ทางอำเภอผ่อนปรนการรื้อถอนไปก่อน
ด้านนายเสถียร มณีผ่อง ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำแม่สาว กล่าวว่า mou ที่ทำกับทางอำเภอไว้มันหมดเวลาผ่อนปรนไปตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 แล้ว
ทั้งนี้ปลัดอาวุโส อ.แม่อายกล่าวว่า ห้วงเวลาผ่านมาเกือบ 10 ปี มันเลยเวลาที่จะไกล่เกลี่ยไปแล้ว วันนี้ศาลสั่งจึงมีความจำเป็นต้องปฏิบัติไปตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ในขณะที่ประชุมเป็นเวลานานในการชี้แจงโดยเฉพาะกลุ่มผู้ก่อการสวนส้มที่พยายามจะขอผ่อนปรนต่อไปอีก อีกทั้งพยายามโยงไปถึงเรื่องโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่สาว ที่รัฐบาลให้กรมชลประทานทำการศึกษาเพื่อดำเนินการอยู่ โดยนายวรเชษฐ์ เขื่อนคำ รองประกลุ่มผู้ประกอบการสวนส้มกล่าวว่า ตัวเขาเองได้พูดคุยกับหน.อุทยานฯ ในการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่สาว โดยยกเอาคำพูดของ หน.อุทยานฯ มาระบุว่า ถ้าไม่มีเรื่องขัดแย้งก็สามารถเดินหน้าสร้างอ่างเก็บน้ำแม่สาวได้เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ แต่ยังมีข้อขัดแย้งแบบนี้ก็สร้างอ่างเก็บน้ำไม่ได้ เช่นดียวกับ น.ส.ชลธร เรือนเงิน กรรมการกลุ่มผู้กำกับการสวนส้มอีกคนกล่าวเสริมว่า เรื่องอ่างเก็บน้ำก็ไม่เป็นอันต้องสร้างแล้ว
ด้านนายสมศักดิ์ เขื่อนแก้ว เลขานุการกลุ่มผู้ใช้น้ำกล่าวว่า จริงๆแล้วคนที่จะดิ้นรนสร้างอ่างเก็บน้ำแม่สาวคือกลุ่มผู้ประกอบการสวนส้มเพราะไม่มีแหล่งน้ำเป็นของตนเอง แต่กลับเอาอ่างเก็บน้ำมาเป็นตัวประกันในเรื่องนี้ นั่นก็เท่ากับว่า ถ้าชาวนาคัดค้านการวางท่อในเขตอุทยานฯ กลุ่มสวนส้มก็จะมีการต่อต้านเรื่องการสร้างอ่างเก็บน้ำ มันสวนทางกันกับความต้องการของตัวเองที่มีความต้องการใช้น้ำมากกว่า
โดยที่ประชุมใช้เวลาถกเถียงกันไม่มีข้อยุติสุดท้ายต่างฝ่ายก็เดินออกห้องประชุมทำให้ต้องเลิกประชุมในครั้งนี้โดยปริยายซึ่งทางด้าน เลขานุการผู้ใช้น้ำแม่สาวได้กล่าวหลังประชุมว่า เกือบ 3 ทศวรรษที่ผ่าน ชาวนาสองตำบลของอำเภอแม่อายกว่า 600 ครัวเรือนจำนวนกว่าสองพันคน ได้รับผลกระทบจากการแย่งน้ำของผู้ประกอบการสวนส้มซึ่งไปวางท่อดักน้ำที่ต้นน้ำลำธารในเขตอุทยานฯ ซึ่งอำนาจรัฐไม่สามารถจัดการกับพวกนายทุนเหล่านี้ได้มีการหารือแก้ปัญหามาตลอดแต่ไม่ได้ข้อยุติมีเงื่อนไขตลอดมาเช่นการประชุมวันนี้ แต่ต้องขอชื่นชมปลัดอาวุโส อ.แม่อายและหัวหน้าอุทยานดอยผ้าห่มปก ที่ปฎิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพลใดๆ ไม่ใช่เพราะเป็นคำสั่งศาลเท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีคำสั่งรื้อถอนที่ 56-172/2562 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2562 มีแต่คำสั่งแต่ไม่มีการรื้อถอน คดีที่อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสุงสุด จำนวน 65 คดี ศาลปกครองสูงสุดไม่รับไว้พิจารณาและคดีที่ไม่อุทธรณ์อีก 21 คดี ผ่านมาหลายปีไม่มีเจ้าหน้าที่กล้ารื้อถอน จนมาวันนี้ทั้งสองท่านกล้าทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาเพื่อดับทุกข์แก่ชาวบ้านอย่างเท่าเทียม และต้องติดตามดูว่าครบ 15 วันวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ทางผู้ประกอบการสวนส้มจะทำการรื้อถอนเองหรือไม่