วัดแสนฝาง รำลึกวันคล้ายวันประสูติ เจ้าดารารัศมี เนื่องในโอกาส 150 ปี

วัดแสนฝาง อุโบสถ และพระเจดีย์ชะเวดากองอันสวยงามน้อมรำลึกวันคล้ายวันประสูติพระราชชายาเจ้าดารารัศมี 26 ส.ค. เกือบตลอดทวันอาทิตย์ 25 ส.ค.67 (วานนี้) ณ วัดแสนฝาง ถ.ท่าแพ อ.เมืองเชียงใหม่ ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ประธานมูลนิธิเจ้านายฝ่ายเหนือ ร่วมกับเจ้าไวยวัต ณ เชียงใหม่ พร้อมด้วยเจ้านายฝ่ายเหนือ กลุ่มช่างฟ้อน และเยาวชนนักเรียนจาก ร.ร.เทพศิรินทร์เชียงใหม่ ร่วมงานบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทาน เพื่อเทิดพระเกียรติ และรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี เนื่องในโอกาส 150 ปี แห่งวันประสูติ (พระองค์ประสูติ 26 ส.ค.2414) โดยภาคเช้า มีพิธีวางพานพุ่มหน้าพระรูป กล่าวถวายราชสดุดี เสร็จพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ (บทสวนมังคละสุตตัง หรือมงคล 38 ประการ เพื่อความเป็นสิริมงคล ความร่มเย็นของแผ่นดิน และสันติภาพโลก) ถวายภัตตาหารเพล และเปิดโรงทาน

ภาคบ่าย ร่วมฟัง “เปิดตำนานวัดแสนฝาง และพระกรณียกิจของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี” โดย อ.ภูเดช แสนสา วิทยากรรับเชิญ มี ดร.เจ้าชาติชาย, เจ้าไวยวัต, ตัวแทนเจ้าอาวาสร่วมเปิดเวที และนายจำรูญวิทย์ จันนรานนท์ เป็นพิธีกร ท่ามกลางผู้สนใจทั้งฆราวาส พระสงฆ์และสามเณรจำนวนมาก โดยผู้แทนเจ้าอาวาส กล่าวเกริ่นว่าวัดแสนฝางสร้างมานาน หลังพระเจ้ากาวิละเข้ามาฟื้นฟูนครเชียงใหม่ วัดได้รับการบูรณะพัฒนาตั้งแต่ยุคครูบาปัญญา ปัญญาวังโส มาถึงครูบาเถิ้ม โสภโณ, พระครูประจักษ์พัฒนคุณ และพระมหาดุลภาร ญาณสัมปันโน ในปัจจุบัน จำได้ในอดีตเมื่อยังใช้ภาพขาวดำทำโปสการ์ด ร้านท่าแพบรรณาคารจัดทำภาพเจดีย์มงคลแสนมหาชัย (เจดีย์ชะเวดากองจำลอง)ออกมาสวยงามมาก ในยุคภาพสียิ่งงดงาม ขายดิบขายดีเป็นที่หนึ่ง

อ.ภูเดช แสนสา ปูพื้นอดีตถึงปัจจุบันของวัดแสนฝาง หรือแสนฝังว่า สร้างสมัยพระญาแสนภู กษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์มังราย ภายหลังพระเจ้ากาวิละขับไล่พม่าและฟื้นบ้านฟื้นเมือง จึงมีการบูรณะวัดต่อเนื่อง ในสมัยพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ (2399-2413) และพระเจ้าอินทวิชยานนท์ (2416-2440) โดยปี 2418 มีการรื้อคุ้มหลวงพระเจ้ากาวิโลรสฯมาสร้างวิหารลายคำ (ฉลองใหญ่ปี 2421) ต่อมาพระราชชายา เจ้าดารารัศมี เสด็จกลับมาเยี่ยมบ้าน (2452-53) ทรงจ่ายเงินทดแทนให้หลวงโยนการพิจิตร 1 พันตำลึง เพื่อสร้างอุโบสถวัดแสนฝางขึ้นดังที่ปรากฏในปัจจุบัน เป็นอาคารคอนกรีตสองชั้นร่วมสมัย ชั้นบนเป็นโครงสร้างไม้มีลวดลายวิจิตสวยงาม ด้านข้างประตูประดับรูปดาว สัญลักษณ์ของพระราชชายาฯ

“เมืองเชียงใหม่มีสองประตูเมืองซ้อนกัน เมืองเก่ามี 5 ประตู หน้าด่านก็มี 5 ประตู สมัยนั้นท่าแพอยู่ใกล้วัดแสนฝาง ลงไปก็เป็นแม่น้ำปิง จะไปกรุงเทพฯ ต้องล่องเรือและกลับทางเรือ ฤดูน้ำหลากท่วมมาถึงแสนฝาง จึงมีการขุดคลองแม่ข่าขึ้นมี 5 ประตูเช่นกัน คือ ประตูช้างม่อย, ประตูแสนฝาง, ประตูระแกง, ประตูก้อม และประตูหายยา ปี 2507 มีการขุดคันดินไปถมที่สร้างสนามกีฬาเทศบาล” อ.ภูเดชเล่า และว่า ยุคเจ้าหลวงเชียงใหม่ ทุกวันพระท่านจะถือศีลฟังธรรม วัดแสนฝางเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมตั้งแต่สมัยพระเจ้าชีวิตอ้าว จะเห็นกำแพงวัดแสนฝางสร้างสูงมากเพราะป้องกันอันตราย และยังมีป้อมยามอยู่ด้านบนด้วย สมัยก่อนนั้นประตูแสนฝางกำแพงเมืองด่านหน้า มีป้อมปืนตั้งอยู่ ปืนโบราณนั้นต่อมาได้นำมาตั้งไว้รอบองค์เจดีย์ชะเวดากองจำลองในวัดแสนฝาง ที่ถือว่าเป็นเจดีย์ที่สวยงามที่สุดของเมืองเชียงใหม่.

ฟัง อ.ภูเดชเล่าจนเพลินกันทั้งศาลาวัด ดร.เจ้าชาติชาย สรุปก่อนปิดงานว่า มูลนิธิเจ้านายฝ่ายเหนือ พร้อมจะสนับสนุนให้วัดแสนฝางเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เป็นศูนย์เรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ และพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ขอให้มีพื้นที่จัดแสดง และเสวนากันเดือนละครั้งก็จะเกิดความสนใจกว้างขวางมากขึ้น ทั้งคนรุ่นใหม่ นักเรียน สามเณรรุ่นนี้จะได้ซึมซับรับรู้เรื่องราวในอดีตที่มีผู้คุณูปการต่อบ้านเมืองท่านทำอะไรไว้เพื่อพวกเรา และประเทศชาติมาให้เห็นถึงปัจจุบัน.

บุณย์ มหาฤทธิ์/รายงาน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า