สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ในคืนวันที่ 13 เมษายน 2568 ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ของไทย จะเกิดปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี” หรือที่เรียกว่า “ไมโครฟูลมูน” โดยดวงจันทร์เต็มดวงในคืนดังกล่าวจะมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเล็กน้อย
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้จัดการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ กล่าวว่า ปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี” หรือ “ไมโครฟูลมูน” (Micro Full Moon) ในวันที่ 13 เมษายน 2568 จะเริ่มสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:48 น. บริเวณขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นช่วงที่ดวงจันทร์โคจรห่างจากโลกไปประมาณ 406,000 กิโลเมตร ด้วยระยะห่างนี้เอง ทำให้ดวงจันทร์เต็มดวงในคืนนั้นมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเล็กน้อย และสามารถชมได้ต่อเนื่องไปจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 14 เมษายน 2568
โดยทั่วไปแล้ว ดวงจันทร์จะโคจรรอบโลกเป็นวงรี ใช้เวลาประมาณ 27.3 วัน ในแต่ละรอบโคจรจึงมีทั้งตำแหน่งที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากที่สุด เรียกว่า “เปริจี” (Perigee) ซึ่งมีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 357,000 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ดวงจันทร์อยู่ไกลโลกมากที่สุด เรียกว่า “อะโปจี” (Apogee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร การที่ผู้สังเกตบนโลกเห็นดวงจันทร์เต็มดวงในคืนที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้หรือไกลโลกแล้วมีขนาดปรากฏแตกต่างกันนั้น ถือเป็นปรากฏการณ์ปกติทางดาราศาสตร์ที่สามารถอธิบายได้ตามหลักวิทยาศาสตร์
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ช่วงเวลาที่ดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งไกลโลกที่สุดหรือใกล้โลกที่สุด อาจไม่ตรงกับวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงเสมอไป แต่สำหรับวันที่ 13 เมษายน 2568 เป็นกรณีพิเศษที่ดวงจันทร์เต็มดวงโคจรอยู่ในตำแหน่งที่ไกลจากโลกมากที่สุดพอดี
สำหรับปรากฏการณ์ที่ตรงกันข้ามกันคือ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” หรือ “ซูเปอร์ฟูลมูน” (Super Full Moon) จะเกิดขึ้นในคืนวันที่ 5 พฤศจิกายน 2568 โดยดวงจันทร์เต็มดวงในครั้งนั้นจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย สำหรับผู้ที่สนใจติดตามข้อมูลปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจอื่นๆ สามารถติดตามได้ทางเฟซบุ๊กของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ที่ www.facebook.com/NARITpage