เขื่อนแม่งัดระบายน้ำรอ เตรียมรับมือพายุ และฝนในช่วงที่เหลือ

เตรียมรับมือพายุ ฝนช่วงที่เหลือ เชื่อนแม่งัดฯ เพิ่มการระบายน้ำเป็น 4 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ระบายทิ้งไปแล้ว 8 ล้าน ลบ.ม. เผยช่องว่างรอรับน้ำยังมีอีกมาก แม้เต็ม 100% ยังมีก๊อก 2 รับได้อีก 28 ล้าน ลบ.ม. เผยเขื่อนแม่งัดถูกออกแบบมาพิเศษ โดยยกสปิลเวย์เพิ่มจาก 100% เพื่อหน่วงน้ำช่วยตัวเมืองเชียงใหม่ ผอ.เขื่อนย้ำ การบริหารน้ำใช้ทั้งตัวเลขทุกสถานวัดน้ำที่เกี่ยวข้องเป็นตัวชี้ปริมาณน้ำระบาย

วันที่ 4 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา นายเฉลิมเกียรติ อินทกนก ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล (ผคบ.แม่แฝก-แม่งัด) กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลว่า ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2567 โครงการฯ ได้ติดตามสถานการณ์ฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยามาโดยตลอดซึ่งข้อมูลฝนในช่วงวันที่ 20-31 สิงหาคม จะมีฝนตกในพื้นที่รับน้ำของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลมีฝนในปริมาณมาก จากข้อมูลฝนโครงการได้มีการคำนวณและคาดการณ์น้ำที่จะเข้าเขื่อนในห้วง 20-31 ส.ค. ราว 35 ล้าน ลบ.ม. โดยวันที่ 19 สิงหาคม เขื่อนแม่งัดฯ มีน้ำ 192 ล้าน ลบ.ม. ราว 72% ของความจุ ซึ่งยังอยู่ในเส้นเกณฑ์ควบคุม (Rule Curve) ช่วงนั้นหากน้ำเข้าเขื่อนถึง 35 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งต้องระบายออกเพื่อให้มีช่องว่างที่จะรับน้ำ ได้มีการขอระบายน้ำไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1 พร้อมกับประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้รับทราบ โดยระบายน้ำจากเขื่อนลงลำน้ำแม่งัดซึ่งจะไปบรรจบกับแม่น้ำปิงเหนือสะพานช่อแล 1 กิโลเมตร หรือเหนือสถานีวัดน้ำ P.75

“ได้มีการพร่องน้ำออกจากเขื่อน 24 ล้าน ลบ.ม. หรือ 2 ล้านกว่า ลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งการระบายน้ำของเขื่อนแม่งัดฯ จะดูปริมาณน้ำที่ P.20 อ.เชียงดาว P.75 สะพานช่อแล P.103 วงแหวนรอบ 3 ตลอดจน P.1 สะพานนวรัฐ ประกอบการบริหารจัดการในการระบายน้ำจากเชื่อน เพื่อใช้เป็นเกณฑ์น้ำกำหนดที่จะไม่ให้เกิดน้ำไปท่วมบริเวณพื้นที่เศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่ พอช่วงปลายเดือนสิงหาคมปรากฏว่าฝนตกเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 35 ล้าน ลบ.ม. เป็นฝนมี 50 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำ 20 ล้าน ลบ.ม. มีความจำเป็นที่ต้องพร่องน้ำออก วันที่ 1 กันยายน 2567 โครงการฯ ได้ทำเรื่องขออนุมัติในการเพิ่มการระบายน้ำ หากแต่ไม่สามารถระบายได้ โดยได้หยุดระบายน้ำตั้งแต่คืนวันที่ 31 ส.ค. เพราะปริมาณน้ำแม่ริม น้ำแม่แตง มีปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้น ปริมาณน้ำที่สถานีวัดน้ำ P.1 ใกล้แตะระดับแจ้งเตือนที่ระดับ 3.70 เมตร จึงหยุดระบายน้ำโดยเด็ดขาด เพื่อไม่ให้ไปซ้ำเติมในเขตตัวเมืองเชียงใหม่” ผคบ.แม่แฝก-แม่งัด แจง

“เมื่อสถานการณ์น้ำในแม่น้ำปิงเข้าสู่เกณฑ์ปกติ ได้มีการวางแผนการระบายน้ำจากเขื่อนแม่งัดฯ ที่ 47 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือประมาณ 4 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งเริ่มระบายเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 67 ก็เป็นการพร่องน้ำเพื่อรับปริมาณน้ำที่อาจเพิ่มขึ้นจากอิทธิพลของพายุในช่วงเดือนกันยายน ช่วงต้นเดือนกันยายนมีพายุยางิซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบกับภาคเหนือตอนบน ตลอด 3 วันเพิ่มการระบายน้ำออกจากเขื่อนไปแล้วราว 8 ล้าน ลบ.ม. เหลือช่องว่างที่จะรับได้ได้อีก 30 กว่า ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะเต็มเขื่อนที่ 100%” นายเฉลิมเกียรติฯ กล่าว

ผคบ.แม่แฝก-แม่งัด กล่าวอีกว่า เขื่อนแม่งัดฯ มีความพิเศษแตกต่างกว่าอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนอื่นคือ มีการออกแบบเขื่อนเพื่อที่จะลดผลกระทบในเขตตัวเมืองเชียงใหม่มาไว้แล้วตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นการลดปริมาณน้ำ 1 ใน 3 ของปริมาณน้ำที่จะหลากเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ ได้มีการสร้างสปิลเวย์ให้มีลักษณะพิเศษคือมีการยกสปิลเวย์ขึ้นมากกว่าระดับเก็บกัก โดยสามารถรับน้ำได้มากกว่า 28 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะเป็นการหน่วงน้ำไว้ไม่ให้เข้าไปรวมกับน้ำปิงแล้วเข้าท่วมตัวเมืองเชียงใหม่ เมื่อรวมกับช่องว่างที่สามารถรองรับได้ ก็เท่ากับว่าเขื่อนแม่งัดจะรองรับน้ำได้อีกราว 65 ล้าน ลบ.ม.

“การบริหารจัดการขณะนี้มองที่พายุยางิได้เป็นอันดับแรก ซึ่งดาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบโดยตรง แม้ว่าอาจจะส่งผลทำให้ปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นก็ต้องดูว่าปริมาณฝนที่ตกจริงจะมีมากน้อยเพียงใดโดยอาศัยข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาอีกครั้ง แต่ได้มีการเตรียมการไว้บ้างแล้ว โดยช่วงเวลาพายุมีส่งผลกระทบมีช่องว่างเพียงพอที่จะรับผลกระทบจากพายุได้ เพราะมีช่องว่ากว่า 65 ล้าน ลบ.ม. และเมื่อไปดูสถิติน้ำเข้าเขื่อนแม่งัดฯ ปีนี้ตั้งแต่เข้าสู่ฤดูฝนถึงปัจจุบัน คิดค่าเฉลี่ยน้ำไหลเข้าเขื่อนได้ที่ 1 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน หากคิดปริมาณน้ำตามค่าเฉลี่ยนี้กับห้วงฝนที่เหลือราว 30 วัน ก็จะมีน้ำเข้าอีกราว 30 กว่าล้าน ลบ.ม. ปริมาณนี้ทำให้น้ำเต็มเขื่อนที่ 100% หากแต่เขื่อนแม่ง้ดฯ มีความพิเศษก็ยังมีช่องว่างอีก 28 ล้าน ลบ.ม. ที่รอรับปริมาณฝนที่อาจไม่เป็นไปตามดาดการณ์” ผคบ.แม่แฝก-แม่งัด กล่าว

“ขณะนี้การบริหารจัดการน้ำเกินเกณฑ์เส้นเกณฑ์ควบคุม (Rule Curve) ราว 11 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ได้มีการระบายอยู่ที 4 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งหักกับน้ำเข้าเฉลี่ย 1 ล้าน ลบ.ม. เท่ากับว่าพร่องน้ำได้เกือบ 3 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน ก็ราวอีก 4 วัน จะสามารถระบายน้ำที่เกินกว่าเส้นเกณฑ์ควบคุม (Rule Curve) ได้ ภายในวันที่ 10 ก.ย. นี้ สถานการณ์น้ำของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลก็จะอยู่ในเกณฑ์ควบคุม (Rule Curve)” นายเฉลิมเกียรติ อินทกนก ผคบ.แม่แฝก-แม่งัด กล่าว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า