ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ (ผคป.เชียงใหม่) สั่งเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 2 แห่งใกล้ชิด อ่างแม่ข้อน อ.เชียงดาว อ่างสันหนอง อ.แม่แจ่ม ให้ระบายน้ำแล้วในเกณฑ์ควบคุม รักษาสมดุลปริมาณน้ำในอ่าง ยันไม่กระทบพื้นที่ท้ายอ่าง กำชับเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง พร้อมเตือนกลุ่มผู้ใช้น้ำราษฎรในพื้นที่เสี่ยง
จากประกาศของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 8/2567 วันที่ 21 กรกฎาคม 2567 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ จากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี ที่ต้องเฝ้าระวังในช่วงวันที่ 24 – 31 กรกฎาคม 2567 ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่มีการคาดการณ์ฝนตกหนักในเขตอำเภออมก๋อย ฝนตกปานกลางดอยเต่า อำเภอแม่แจ่ม อำเภอฮอด อำเภอกัลยานิวัฒนา อำเภอเชียงดาว อำเภอพร้าว อำเภอไชยปราการ อำเภอฝาง และอำเภอแม่อาย ซึ่งเป็นพื้นที่ต้องเฝ้าระวัง พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และบริเวณตัวเมืองเชียงใหม่ที่มักเกิดน้ำท่วมขัง ในพื้นที่ลุ่มน้ำ
วันที่ 27 ก.ค. 2567 นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ (ผคป.เชียงใหม่) เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ก.ค. 67) พบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดกลางในความรับผิดชอบของ คป.เชียงใหม่ ที่ต้องเฝ้าระวังมีด้วยกัน 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำข้อน ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.เมืองงาย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งขณะนี้มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 3.237 ล้าน ลบ.ม. (คิดเป็น 79.34 ของความจุอ่าง) โดยได้มีการระบายน้ำออกจากอ่างฯ ในอัตรา 0.40 ลบ.ม./วินาที หรือ 34,560 ลบ.ม./วัน เพื่อรักษาสมดุลของปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ไม่ให้เกินกว่าระดับเก็บกักน้ำที่ 3.264 ล้าน ลบ.ม.
“อีกแห่งคือ อ่างเก็บน้ำสันหนอง ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ขณะนี้มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ 1.292 ล้าน ลบ.ม. (คิดเป็น 89.10 ของความจุอ่าง) โดยได้มีการระบายน้ำออกจากอ่างฯ ในอัตรา 0.26 ลบ.ม./วินาที หรือ 22,464 ลบ.ม./วัน ซึ่งสามารถระบายน้ำผ่านอาคารระบายลงลำน้ำเดิม ได้สูงสุด 0.42 ลบ.ม./วินาที หรือ 36,288 ลบ.ม./วัน เพื่อรักษาสมดุลของปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ไม่ให้เกินกว่าระดับเก็บกักน้ำที่ 1.160 ล้าน ลบ.ม. โดยที่อัตราการระบายของอ่างเก็บน้ำ ทั้ง 2 แห่ง จะไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนตามแนวลำน้ำห้วยด้านท้ายอ่าง และเจ้าหน้าที่ได้มีการแจ้งเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน และราษฎรในพื้นที่เสี่ยงเบื้องต้นแล้ว” ผคป.เชียงใหม่ กล่าว
ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้มีการจัดตั้งศูนย์ประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ โดยมีเจ้าหน้าที่ค่อยเฝ้าระวัง ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อบริหารจัดการน้ำในอ่างฯ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ และเกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฤดู ปี 67 อย่างเคร่งครัด ที่สำคัญมีการทำงานเชิงบูรณาการกับหน่วยงานของจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ถึงสถานการณ์น้ำ การแจ้งเตือนอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เพื่อช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน ตามนโยบายของรัฐบาล และ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์