เมื่อวานนี้ (20 มิ.ย. 67) ที่บริเวณสำนักงานอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ที่ 4 (แม่เหียะ) หมู่ที่ 2 ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สภาวัฒนธรรมตำบลแม่เหียะ และเทศบาลเมืองแม่เหียะ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดพิธีเลี้ยงดง และพิธีเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ ประจำปี 2567 ซึ่งเป็นประเพณี และพิธีโบราณของชาวบ้านในพื้นที่ที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน และจัดขึ้นในช่วงเดือน 9 เหนือ เป็นประจำทุกปี โดยมีประชาชน และนักท่องเที่ยวเข้าร่วมจำนวนมาก
ทั้งนี้ การจัดงานเริ่มจากการนำข้าวตอกดอกไม้ ผลไม้ อาหารคาวหวาน บวงสรวงศาลรูปปั้นปู่แสะ-ย่าแสะ บริเวณทางขึ้นพระธาตุดอยคำ จากนั้นมีการรำบวงสรวงดวงวิญญาณปู่แสะ-ย่าแสะ และมีขบวนอัญเชิญพระบฏที่อยู่ในหีบซึ่งเป็นผ้าที่มีรูปวาดของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปางห้ามญาติ ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2469 เข้ามาในบริเวณพิธีเลี้ยงดง ต่อจากนั้นพระครูอาภาภัสรัตนธาดา เจ้าอาวาสวัดต้นปิน เจ้าคณะตำบลแม่เหียะ ได้เป็นผู้นำสวดประกอบพิธีทางศาสนาก่อนจะนำพระบฏมาผูกห้อยต้นไม้บริเวณที่มีการเลี้ยงดง ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลังจากที่นำพระบฏขึ้นแขวนบนต้นไม้แล้วไม่มีลมแม้แต่น้อย แต่พระบฏจะแกว่งไกวไปมาเป็นที่น่าอัศจรรย์ ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เห็นต่างพากันยกมือไหว้ก่อนที่จะถ่ายวิดีโอเก็บไว้เพื่อเป็นที่ระลึกและส่งต่อให้เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องได้ดู
เมื่อพิธีการอัญเชิญพระบฏเสร็จแล้วก็ได้เริ่มเข้าสู่พิธีเลี้ยงดง ซึ่งบริเวณลานเลี้ยงดงนั้นจะมีการนำควายรุ่นตัวผู้ที่เชือดไว้แล้วเป็นเครื่องเซ่นไหว้ โดยจะมีร่างทรงร่ายรำก่อนที่ปู่แสะ-ย่าแสะจะลงประทับและมากินควายดิบๆ พร้อมเหล้าขาวที่เป็นเครื่องเซ่นไหว้ เมื่อกินเสร็จแล้วร่างทรงก็จะเดินไปทักทายและให้พรนักท่องเที่ยวที่มาร่วมงานครั้งนี้ด้วย บางคนได้นำธนบัตรมาให้ร่างทรงปู่แสะย่าแสะร่ายคาถาใส่เพื่อความเป็นสิริมงคลให้เงินทองไหลเข้ามาเทเข้ามาอย่างไม่ขาดสายด้วย
สำหรับประเพณีเลี้ยงดง หมายถึงเซ่นสรวงดวงวิญญาณผีในป่า เป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมาหลายร้อยปีหลายช่วงอายุคน คำว่า “ดง” เป็นภาษาพื้นเมืองไทยภาคเหนือ หมายถึง ป่าไม้หรือป่าดงดิบ ซึ่งป่าเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งมีชีวิต สภาพแวดล้อมในป่า ได้สร้างทรัพยากรทางธรรมชาติ เช่น พืชพันธุ์สัตว์ต่างๆ และรักษาความสมดุลของธรรมชาติ ตลอดจนเป็นต้นน้ำหล่อเลี้ยงชีวิต ให้น้ำอุปโภค บริโภค พืชพันธุ์อาหาร และยารักษาโรค โดยผีปู่แสะ-ย่าแสะ เป็นชื่อที่ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ตำนานเชียงใหม่ปางเดิม และตำนานวัดดอยคำกล่าวกันว่าทั้งคู่เป็นยักษ์สามีภรรยา อาศัยอยู่ที่บริเวณเชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงบริเวณนั้น ปู่แสะ-ย่าแสะและบุตรได้พยายามจะจับพระพุทธเจ้ากิน แต่ก็ถูกพระพุทธองค์ทรมานจนยอมแพ้และให้ถือศีล
ทั้งนี้ ปู่แสะ-ย่าแสะ พยายามขออนุญาตกินมนุษย์เป็นอาหาร ซึ่งพระพุทธองค์มิได้ทรงยอมทำตาม แม้จะขอกินเลือดมนุษย์เพียงหนึ่งหยดก็ไม่ได้รับอนุญาตเช่นกัน จนท้ายสุดปู่แสะ-ย่าแสะก็ขอกินควายเขาคำ (ควายที่มีลักษณะเขายาวไม่เกินใบหู) ซึ่งพระพุทธเจ้าก็สั่งให้ทั้งสองไปขอกับเจ้าเมืองเอาเอง ส่วนบุตรของปู่แสะ-ย่าแสะมีความศรัทธาในคำสอนของพระพุทธองค์จึงขอบวช แต่พระพุทธเจ้ามิได้อนุญาต และทรงให้บวชเป็นฤๅษีเท่านั้น เมื่อบวชแล้วมีชื่อว่าสุเทวฤๅษีหรือวาสุเทวฤๅษี อันเป็นที่มาของชื่อดอยสุเทพ
โดยพิธีเลี้ยงผีปู่แสะ-ย่าแสะ เป็นประเพณีประจำทุกปีในเดือน 9 เหนือคือประมาณเดือนมิถุนายน ซึ่งอยู่ในช่วงระยะเวลาของการเลี้ยงผีเมือง เลี้ยงอารักษ์เมืองเชียงใหม่ และทำบุญเมืองเชียงใหม่ที่อยู่ในช่วงปลายเดือน 8 เหนือจนถึงต้นเดือน 9 เหนือ (ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน) ซึ่งในอดีตการเลี้ยงควายมี 2 แห่งแยกกัน คือ ปู่แสะอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ (ดอยเหนือ) ติดกับลำห้วยฝายหิน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และย่าแสะบริเวณดอยคำ ริมน้ำแม่เหียะ (ดอยใต้) แต่ละแห่งเลี้ยงที่ละ 1 ตัว ภายหลังรวมมาเป็นเลี้ยงที่เดียวคือที่ตั้งอยู่ในปัจจุบัน อยู่ในบริเวณหน่วยพิทักษ์ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ที่ 4 (แม่เหียะ) หมู่ที่ 2 ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ซึ่งป่าไม้บริเวณดังกล่าวเป็นป่าต้นน้ำของลำห้วยแม่เหียะ ซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตคนในตำบลแม่เหียะ ตำบลสันผักหวาน ตำบลป่าแดด ป่าต้นน้ำนี้ได้สร้างความสมดุลให้กับชาวเชียงใหม่หลายร้อยปีมาแล้ว