เชียงใหม่ – พระวัดอุโมงค์เชียงใหม่เผยกรณียักษ์ปูนปั้นศิลปะล้านนาอายุเกือบ 500 ปีถูกบูรณะซ่อมแซมแบบย่ำยีจนแทบสิ้นสภาพของโบราณเก่าแก่ ที่แท้ข้าราชการระดับสูงของจังหวัดเข้ามาเที่ยวชมวัดแล้วประสานกรมศิลปากรให้มาดำเนินการพอกปูนทับของเดิม ยืนยันวัดไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง
เมื่อวานนี้ (9 มิ.ย. 67) ที่วัดอุโมงค์สวนพุทธธรรม พระครูสมุห์บุญเลิศ ชยวโส เจ้าอาวาส และพระพีระ ซึ่งเป็นพระลูกวัดที่รับหน้าที่เฝ้าดูการบูรณะยักษ์ทั้งสองตน เปิดเผยว่า การบูรณะยักษ์ปูนปั้นทั้งสองตนนั้น เริ่มต้นจากเมื่อช่วงปลายปี 2566 หรือช่วงต้นปี 2567 ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้มาเที่ยวชมวัด และเห็นยักษ์ปูนปั้นทั้งสองตนมีสภาพชำรุด จึงได้ประสานให้เจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร เข้ามาตรวจสอบและดำเนินการซ่อมแซมบูรณะ จนกระทั่งแล้วเสร็จตั้งแต่เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเท่าที่ทราบและเท่าที่เห็นมีการนำปูนพอกทับของเดิม
ทั้งนี้ ทางวัดไม่ทราบในรายละเอียดใดๆ เนื่องจากเชื่อมั่นว่าเป็นการดำเนินการโดยช่างผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากร จึงทำได้แต่เพียงเฝ้าดู เพราะวัดแห่งนี้เป็นโบราณสถานและเป็นสมบัติของประเทศชาติ โดยที่วัตถุโบราณ และโบราณสถานต่างๆ ในพื้นที่ได้รับการขึ้นบัญชีไว้ทั้งหมด ซึ่งกรมศิลปากรเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบโดยตรง ในขณะที่ทางวัดได้แต่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาดำเนินการบูรณะซ่อมแซมเท่านั้น
สำหรับยักษ์ปูนปั้นทั้งสองตนนั้น ตามความเชื่อแล้วทำหน้าที่เป็นทวารบาลเฝ้าประตูทางเข้าออกวัดและปกปักรักษาพื้นที่โดยรอบ ซึ่งในอดีตเคยเกิดเรื่องลี้ลับขึ้นหลายครั้ง ยกตัวอย่างเช่น เคยเกิดเหตุต้นมะกอกและต้นตะเคียนขนาดใหญ่โค่นล้มใส่ยักษ์ทั้งสองตน แต่ปรากฏว่ากลับไม่ได้รับความเสียหายใดๆ หรือเคยมีคนที่มาบนบานขอเรื่องต่างๆ ไว้ และสมหวังแล้วแต่ลืมมาแก้บนตามที่รับปากไว้ จนสุดท้ายเกิดเรื่องเกิดราวจนต้องรีบมาแก้บนในที่สุด อย่างไรก็ตามถือว่าเป็นความเชื่อส่วนบุคคล
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรชัย จงจิตงาม อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมาเคยได้รับทราบมาเช่นกันว่ามีข้าราชการระดับสูงของจังหวัดเชียงใหม่คนหนึ่งที่ได้ประสานไปทางกรมศิลปากรให้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมยักษ์ทั้งสองตน อย่างไรก็ตามการบูรณะซ่อมแซมที่ได้ดำเนินการดังกล่าวนั้นถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะที่จริงแล้วยังมีอีกหลายวิธีที่สามารถทำได้โดยที่ยังคงรักษาสภาพความเก่าแก่โบราณและผลงานศิลปะของช่างฝีมือในอดีตเมื่อหลายร้อยปีเอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์โดยไม่เป็นการทำลายเช่นนี้ และเท่าที่ทราบยังมีโบราณสถานอีกหลายแห่งในเชียงใหม่ที่เสี่ยงจะเกิดกรณีแบบเดียวกันนี้ จึงอยากให้ผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบและดำเนินการด้วยความรอบคอบใส่ใจ รวมทั้งใช้สติปัญญาด้วย