ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของเพื่อเชื่อมโยง GMS ตั้งอยู่บริเวณด่านพรมแดนไทย-สปป.ลาว อ.เชียงของ จ.เชียงราย เนื้อที่ 335 ไร่ ได้ดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐานระยะที่ 1 แล้วเสร็จแล้วด้วยวงเงิน 1,300 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการระยะที่ 2 วงเงิน 660 ล้านบาท โดยอยู่ในกระบวนการคัดเลือกเอกชน (PPP)
ขณะที่ช่วงระหว่างปี 2566-พ.ค. 2567 สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จ.เชียงราย ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก SCGJWD Academy ได้ดำเนินโครงการศูนย์ฝึกอบรมกำลังคนด้านโลจิสติกส์อัจฉริยะโดยใช้ Mixed Reality Simulation โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สนับสนุนงบประมาณจำนวน 9,700,800 บาท เพื่อพัฒนากำลังคนที่จะสามารถทำงานรองรับกับศูนย์เปลี่ยนถ่ายฯ ได้ในอนาคต
ล่าสุด รศ.ดร.ดรุณี วัฒนศิริเวช รองอธิการบดี มฟล. ผศ.ดร.ธีรวิศิฎฐ์ เลาหะเพ็ญแสง คณบดีสำนักวิทยาเทคโนโลยีสารสนเทศ ผศ.ดร.สันติชัย วิชา หัวหน้าโครงการฯ นายณัฐกฤต แก้วประทุม นักวิชาการขนส่งชํานาญการ นายสรนพ บ้านใหญ่ SCGJWD Academy ได้ร่วมกันสรุปผลการดำเนินการโครงการ
ผศ.ดร.สันติชัยกล่าวว่า เชียงของเป็นเมืองหน้าด่านที่สามารถเชื่อมประเทศไทยไปสู่นานาชาติโดยเฉพาะในด้านการขนส่งสินค้า จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาคนเพื่อให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยระบบดิจิทัล ซึ่งทางโครงการได้ขอขยายเวลาจาก 12 เดือน เพิ่มอีก 180 วัน สิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค.นี้
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีผู้เข้ารับการอบรม 520 คน มีทั้งตัวแทนจากผู้ประกอบการ เช่น นิ่มซี่เส็ง ซีพีออลล์ ฯลฯ มีการเดินทางไปยัง จ.เชียงใหม่ จ.พะเยา และ อ.เชียงของ ภายใต้ 5 หลักสูตร คือ หลักสูตรสำหรับเจ้าของธุรกิจนำเข้าและส่งออก หลักสูตรสำหรับหัวหน้างานคลังสินค้า หลักสูตรสำหรับคนขับรถบรรทุก หลักสูตรสำหรับพนักงานขับรถยก และหลักสูตรสำหรับเจ้าหน้าที่ดูแลคลังสินค้า มีการใช้ Simulator ในการควบคุมการปฏิบัติการ และใช้ Hololens เพื่อความปลอดภัยในการทำงานต่างๆ เป็นต้น ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพของผู้เข้าร่วมการอบรมได้เป็นอย่างดี
ด้านนายณัฐกฤตกล่าวว่า ศูนย์เปลี่ยนถ่ายฯ เชียงของถือเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายฯ ชายแดนแห่งแรกของประเทศไทย จากที่ผ่านมามีเพียงที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งคาดว่าโครงการระยะที่ 2 จะแล้วเสร็จราวปลายปี 2568 ขณะนี้อยู่ระหว่างหาเอกชนเข้าไปดำเนินการ ภายในมีอยู่ 2 ส่วน คือ การรองรับสินค้าและการขนส่งสินค้ากระจายผ่านถนน R3A ไทย-สปป.ลาว-จีน
ทั้งนี้ ในอนาคตจะผลักดันให้พิธีนำเข้าและส่งออกสินค้าให้มุ่งตรงเข้าไปศูนย์เปลี่ยนถ่ายฯ ส่วนการเดินทางเข้าออกของคนจะแยกให้ไปอยู่ที่ด่านพรมแดนเช่นเดิมเพื่อลดความแออัด ดังนั้น การจัดอบรมตามโครงการจึงเป็นเรื่องที่ดีมากเพราะสามารถสร้างบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคตได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะจะมีระบบรางเชื่อมจากเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ซึ่งจะมีการปรับปรุงรองรับตู้คอนเทนเนอร์ด้วย