วานนี้ (2 พ.ค. 67) ที่ หอประชุม ที่ว่าการอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ คุณตัน ภาสกรนที หรือ “ตัน อิชิตัน” นักธุรกิจเจ้าของเครื่องดื่มชื่อดังของเมืองไทย ได้เดินทางมามอบเงินรางวัลให้กับหมู่บ้านที่สามารถลดจุดความร้อนได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ตามเงื่อนไขที่ได้มีการลงนาม MOU ร่วมกันระหว่างมูลนิธิ ตันปัน กับ มูลนิธิป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะประธานมูลนิธิป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายอำเภอแม่ริมและนายอำเภอหางดง ร่วมเป็นสักขีพยาน
โดยเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 มูลนิธิ ตันปัน นำโดย คุณตัน ภาสกรนที ได้มาร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับมูลนิธิป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อบูรณาการความร่วมมือ และทดสอบความท้าทายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ร่วมกับ 69 หมู่บ้าน ในพื้นที่นำร่อง 2 อำเภอ คือ อำเภอแม่ริม (47 หมู่บ้าน) และอำเภอหางดง (22 หมู่บ้าน) ด้วยการตั้งเงื่อนไขให้ลดจำนวนจุดความร้อนให้ได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับจำนวนจุดความร้อนในช่วงระยะเวลาเดียวกันในปี 2566 โดยเริ่มเก็บสถิติเป็นเวลา 40 วัน ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม – 30 เมษายน 2567 หากสามารถทำได้ตามเงื่อนไขได้ จะมอบงบประมาณสนับสนุนเป็นเงินรางวัลให้หมู่บ้านละ 100,000 บาท เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้จากการช่วยกันป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ให้กับจังหวัดเชียงใหม่ และร่วมสร้างอากาศบริสุทธิ์ให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งขณะนี้ได้ครบกำหนดตามข้อตกลงแล้ว คุณตัน ภาสกรนที จึงได้นำเงินรางวัลดังกล่าวมามอบให้ตามสัญญา
ซึ่งผลปรากฏว่า มี 54 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 69 หมู่บ้าน ที่สามารถก้าวข้ามความท้าทายและดำเนินการตามเงื่อนไขได้สำเร็จ ประกอบไปด้วย หมู่บ้านในอำเภอแม่ริม 36 หมู่บ้าน และ หมู่บ้านในอำเภอหางดง 18 หมู่บ้าน ส่งผลให้จำนวนจุดความร้อนใน 2 อำเภอ ลดลงเป็นจำนวนมาก จากเดิมในปี 2566 เกิดจุดความร้อนทั้งหมด 324 จุด ส่วนปีนี้ลดลงเหลือเพียง 111 จุด หรือลดลงจากเดิมกว่า 65 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม คุณตัน ยังได้มอบเงินรางวัลปลอบใจให้กับอีก 15 หมู่บ้าน ที่ไม่สามารถทำได้ตามเป้าอีกหมู่บ้านละ 10,000 บาท รวมเป็นยอดเงินสนับสนุนในครั้งนี้กว่า 5.5 ล้านบาท
โดย คุณตัน ภาสกรนที เปิดเผยว่า การดำเนินการดังกล่าวถือว่าประสบผลอย่างมาก ทั้งสองอำเภอสามารถช่วยกันลดจุดความร้อนได้กว่า 65 เปอร์เซ็นต์ ในระยะเวลาเพียง 40 วัน ทั้งที่อยู่ในช่วงที่เป็นจุดพีคของการเกิดไฟป่า อย่างไรก็ตามหากจะให้เกิดความยั่งยืน ประชาชนทุกคนจะต้องให้ความร่วมมือแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่น PM2.5 อย่างจริงจัง ส่วนในปีหน้าก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนอีก แต่เพียงตนเองอาจจะมีกำลังไม่มากพอ ดังนั้น อาจจะต้องร่วมมือกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจ โรงแรม ห้างร้าน และหน่วยงานภาคเอกชนอื่นๆ เข้ามาร่วมสนับสนุน เพื่อให้ครอบคลุมทั่วทั้งจังหวัด ถือเป็นการคืนความสุขให้กับประชาชน