ที่บริเวณพิพิธภัณฑ์โบราณล้านนา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เมื่อช่วงเย็นวันที่8ธ.ค.66 ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานพิธีเปิดงานเทศกาลล้านนาสร้างสรรค์(Creative Lanna Festival 2023) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 ธ.ค.66 พร้อมทั้งเป็นประธานพิธีมอบรางวัลภูมิแผ่นดินปิ่นล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2565 เชิดชูเกียรติผู้มีคุณูปการต่อแวดวงศิลปวัฒนธรรมในภาคเหนือ มุ่งส่งเสริม สนับสนุนให้บุคคลทั่วไปได้ตระหนักถึงคุณค่าของผู้สืบสานวัฒนธรรมล้านนา และเป็นขวัญกำลังใจให้กับผู้ได้รับรางวัล จำนวน 6 สาขา ได้แก่ 1. นายโกมล พานิชพันธ์ จังหวัดแพร่ สาขาส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ,2. นายสนั่น ธรรมธิ จังหวัดเชียงใหม่ สาขาภาษาและวรรณกรรม ,3. นายพรชัย ใจมา จังหวัดเชียงใหม่ สาขาทัศนศิลป์ ,4. นางบัวคลี่ ฟูวัน จังหวัดเชียงราย สาขาศิลปหัตถกรรมและภูมิปัญญางานช่างพื้นบ้าน ,5. นายภานุทัต อภิชนาธง จังหวัดเชียงใหม่ สาขาศิลปะการแสดงหรือการขับขานพื้นบ้าน และ 6. นายสุรศักดิ์ ป้อมทองคำ จังหวัดแม่ฮ่องสอน สาขาสถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อมล้านนา
สำหรับรางวัลภูมิแผ่นดินปิ่นล้านนา นั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ มช. ได้ดำเนินการคัดเลือกรางวัลภูมิแผ่นดินปิ่นล้านนา มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จวบจนถึงปัจจุบัน มีผู้ที่ได้รับรางวัลภูมิแผ่นดินปิ่นล้านนาแล้ว ทั้งสิ้น 67 ท่าน โดยคัดเลือกจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และมีคุณสมบัติที่เหมาะสมในด้านศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามของชาวล้านนาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริม สนับสนุน ให้บุคคลทั่วไปได้ตระหนักถึงคุณค่าของผู้สืบสานวัฒนธรรมล้านนาและเชิดชูเกียรติประวัติแก่ผู้ที่ทำประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งพิธีมอบรางวัลในปีนี้จัดขึ้นภายในงานเทศกาลล้านนาสร้างสรรค์(Creative Lanna Festival 2023) พร้อมกับจัดแสดงนิทรรศการผลงานและเกียรติประวัติของผู้ได้รับรางวัลทั้ง 6 สาขา ด้วย
ทั้งนี้การจัดงานเทศกาลล้านนาสร้างสรรค์(Creative Lanna Festival 2023) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 ธ.ค.66 ระหว่างเวลา 10.00 น. -21.00 น. ณ พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มช. เป็นงานที่จัดขึ้นภายใต้การดำเนินงานยุทธศาสตร์เชิงรุกที่ 3 ล้านนาสร้างสรรค์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เน้นเปิดพื้นที่ Creative District และแบรนด์สร้างสรรค์ Creative Branding และมีส่วนร่วมกับเทศกาลออกแบบเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 9 ที่จัดขึ้นในช่วงเดียวกัน หวังเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันเชียงใหม่ สู่ศูนย์กลางของการจัดกิจกรรมเทศกาลต่างๆ ควบคู่ไปกับการจัดเทศกาลงานอื่นๆที่จัดขึ้นในช่วงฤดูกาลของการท่องเที่ยว
โดยงานเทศกาล Creative Lanna Festival 2023 มีสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ มช. เป็นส่วนงานหลักในการรับผิดชอบการจัดงาน และมีแผนต่อยอดให้เป็นเทศกาลประจำปีในอนาคต ซึ่งจะเน้นการเปิดพื้นที่ในการเข้าถึงและถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้ด้านล้านนาออกไปสู่วงกว้าง ให้นักศึกษา นักสร้างสรรค์ได้มาเเลกเปลี่ยนไอเดีย แชร์ประสบการณ์ ผ่านการจัดกิจกรรม เเละการจัดเเสดงผลงานต่างๆ โดยมี Conceptการจัดเรียงเรื่องราวภายในงาน คือ “แสงเหนือ” ที่เป็นการเล่า Story Telling ย้อนอดีตสู่ปัจจุบัน วิถีชีวิต วัฒนธรรมผ่านนวัตกรรมเเสง สี เสียง เปิดพื้นที่แห่งสีสัน ยามค่ำคืน Night Museum ในพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มช. ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุน Night-Time Economy ปลุกและฟื้นย่าน CMU-Square นิมมาน รวมถึงเปิดประสบการณ์ Night Museum ของพิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนาครั้งแรก โดยสามารถเข้าชมงานได้ฟรี ตลอดช่วงเวลา 3 วันดังกล่าว
ขณะที่กิจกรรมภายในงานประกอบไปด้วยกิจกรรมความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตผ่านนวัตกรรมการใช้เเสง สี เสียง ตลอดงาน นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการ งานเสวนา การแสดงร่วมสมัย การฉาย Projection Mapping บนเรือนสถาปัตยกรรม กิจกรรม Workshop และร้านค้า อาหาร ผลิตภัณฑ์งานคราฟต์กาดแลงมาจอย และตลาด Alive Up มากกว่า 40 ร้านค้า การเเสดงล้านนาร่วมสมัยมากมายหลากหลายประเภท,การฉายหนังกลางแปลง เเละกิจกรรมสร้างสรรค์ อบรมเชิงปฏิบัติ รวมทั้งกิจกรรมไฮไลท์การฉาย เเสง สี เสียง ไฟ ผ่านการใช้ทุนทางวัฒนธรรมผสมผสานนวัตกรรมสมัยใหม่ Projection Mapping บนเรือนสถาปัตยกรรม ด้วยเเนวคิด “เเสงเหนือ“ ที่เล่าเรื่องเล่าวัฒนธรรม วิถีชีวิตชาวล้านนาจากอดีต สู่ปัจจุบัน.
โดย: ผู้จัดการออนไลน์