หน้า 1 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 20 กันยายน 2542
เหตุการณ์ระทึกขวัญครั้งใหญ่ในรอบหลายสิบปีของภาคเหนือเกิดขึ้นเมื่อโรงงานลำไยอบแห้งในจังหวัดเชียงใหม่เกิดระเบิดเสียงดังกึกก้อง ได้ยินในรัศมีกว่า 5 กิโลเมตร ผลให้คนงานเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
โรงงานลำไยอบแห้งของบริษัทหงษ์ไทยเกษตรพัฒนาจำกัด ตั้งอยู่ที่ บ้านทุ่งฟ้าบด ถนนเชียงใหม่-ฮอด หมู่ 2 ตำบลบ้านหูกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอาคารโล่งชั้นเดียว ขนาด 30 คูณ 60 เมตร ไม่ก่อผนังเพื่อเปิดทางให้รถขนส่งลำไยเข้า-ออก ที่ดินเป็นของคนไทยรายหนึ่งแต่ได้เช่าให้ชาวไต้หวันเข้ามาทำกิจการโรงงานลำไยอบแห้ง
เวลาประมาณ 10.30 ของวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2542 เกิดระเบิดขึ้นดังสนั่นหวั่นไหวขึ้นสองครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน สร้างความตื่นตระหนกต่อชาวบ้านโดยรอบ ไม่นานจากนั้นเจ้าหน้าที่ดับเพลิงต้องเร่งนำรถดับเพลิงกว่า 20 คันมาช่วงฉีดน้ำและโฟมสกัดเพลิงไม่ให้ลุกลามถังน้ำมันดีเซลขนาด 5,000 ลิตร ระหว่างนั้นก็เกิดเสียงระเบิดดังเป็นระยะ ๆ กว่าเพลิงจะสงบก็เวลาประมาณ 12.30 น. ขณะที่ชาวบ้านจำนวนมากแห่มุงดูอยู่รอบที่เกิดเหตุนับพันคน
เจ้าหน้าที่เข้าสำรวจสภาพความเสียหายของโรงงาน เบื้องต้นพบหลุมระเบิดลึก 3 เมตร กว้าง 28 เมตร โรงงานพังราบ เศษกระเบื้อง เศษปูน กระจายเกลื่อน ไม่เหลือเค้าโรงงานแม้แต่น้อย พบศพคนงานในสภาพร่างแหลกเหลวแขนขาขาด ไส้ทะลัก อวัยวะกระจัดกระจายเพราะแรงระเบิด ซึ่งทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นของผู้ใด เบื้องต้นแยกเป็นศพเพศชาย 19 ศพ หญิง 1 ศพ และมีผู้บาดเจ็บสาหัส 40 คน แต่คาดว่ายอดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะยังมีเศษซากศพที่ไม่สามารถระบุได้อีกจำนวนมาก
จันทร์ฉาย ชัยวรรณ เจ้าของบ้านที่อยู่ติดกับโรงงานเล่าเหตุการณ์ในวันนั้นว่า แรงระเบิดทำให้บ้านของเธอพังเสียหาย เธอเองได้รับบาดเจ็บ เมื่อฟื้นขึ้นมาก็พบเห็นเศษชิ้นเนื้อคนจำนวนมากกระจัดกระจายเต็มบ้านของเธอ ขณะที่ จรูณ พิศูจน์ เจ้าหน้าที่กู้ภัยระบุว่า ยังพบเศษชิ้นเนื้อคนตามรัศมีกว่า 1 กิโลเมตรจากรอบโรงงาน ติดตามต้นไม้และบ้านเรือนโดยรอบ
ไม่เพียงเท่านั้น ผลจากแรงระเบิดทำให้เกิดก๊าซที่เป็นอันตรายหากสูดดมเข้าไป และยังส่งผลต่อระบบนิเวศโดยรอบเนื่องจากผลจากปฏิกิริยาทางเคมีทำให้เกิดสารตกค้างที่ทำให้ดินเป็นกรด ส่งผลกระทบในระยะยาวต่อชุมชนโดยรอบโรงงาน
ผลการสอบสวนพบว่าเกิดจากอุบัติเหตุซึ่งน่าจะอยู่ในขั้นตอนของการผสมปุ๋ยที่มีการผสมโพแทสเซียมคลอเรทกับกำมะถันลงไปในปุ๋ย เป็นไปได้ว่าเกิดความผิดพลาดขึ้นในขั้นตอนการผสมปุ๋ย อาจเกิดประกายไฟหรือการกระแทกเสียดสีในเครื่องโม่ จึงก่อให้เกิดระเบิดขึ้นหนึ่งครั้ง จากนั้นเกิด SHOCK WAVE แรงอัดกระตุ้นให้เกิดระเบิดจากสารเคมีโพแทสเซียมคลอเรทที่เก็บไว้กว่า 4 ล้านตัน จึงเกิดระเบิดเป็นครั้งที่สองซึ่งรุนแรงกว่าครั้งแรกมหาศาล
โพแทสเซียมคลอเรทเป็นผงสีขาว ไม่มีกลิ่น รสชาติคล้ายเกลือ คล้ายดินประสิว ถูกกระแทกหรือเสียดสีอาจทำให้เกิดระเบิดได้ แต่เมื่อนำไปเป็นส่วนผสมของวัตถุระเบิดอื่นอย่าง กำมะถันหรือถ่าน จะติดไฟ และเร่งปฏิกิริยาระเบิดได้ง่ายและรุนแรงขึ้น ซึ่งคุณสมบัติของสารตัวนี้สามารถนำมาใช้เร่งปฏิกิริยาให้ลำไยออกดอกนอกฤดู
สรุปแล้วมีผู้เสียชีวิต 45 คน บาดเจ็บกว่าร้อยคน บ้านเรือนของประชาชนในรัศมี 1 กิโลเมตรจากโรงงานได้รับความเสียหายมากกว่า 500 หลังคาเรือน ทั้งกระจกหน้าต่าง บานเกล็ด หลังคาแตกกระจาย โครงเหล็กของโรงงานปลิวมาทับบ้านเรือนโดยรอบ รวมทั้งอาคารของโรงพยาบาลสันป่าตองเกิดยุบตัวลงเล็กน้อยจากแรงระเบิดดังกล่าว ประมาณมูลค่าความเสียหายกว่า 500 ล้านบาท
ชาวบ้านรวมตัวกันฟ้องทั้งแพ่งและอาญาเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม จนเมื่อ พ.ศ. 2559 คดีถึงที่สุดในชั้นศาลฎีกา ตัดสินให้จำเลยทั้ง 4 ของบริษัทดังกล่าวมีความผิดและรับโทษจำคุก ส่วนคดีแพ่งที่ได้พักการพิจารณาคดีเพื่อรอการพิจารณาคดีอาญาให้เสร็จสิ้นลงก่อนนั้น ได้มีการไกล่เกลี่ยทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างทั้งสองฝ่ายได้สำเร็จ
ผู้เขียน | เสมียนอารีย์ |
---|
ข่าวจาก https://www.silpa-mag.com/