กลุ่มผู้ชื่นชอบและเพาะเลี้ยงกว่างชนทั่วภาคเหนือแห่ร่วมแข่งขันชนกว่างครั้งแรกและใหญ่ที่สุดของภาคเหนือในปีนี้ ที่สนามไก่ชนหนุ่มเขลางค์ อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่ออนุรักษ์สืบสานการละเล่นที่เป็นวิถีชีวิตพื้นถิ่น ชูไฮไลต์แข่งชนกว่างมาราธอนแพ้ตกรอบจนเหลือผู้ชนะเพียงตัวเดียว
ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (5 ส.ค.2566) ที่สนามไก่ชนหนุ่มเขลางค์ อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักจากการที่บรรดากลุ่มผู้ชื่นชอบ และเพาะขยายพันธุ์ กว่างชน จากหลายจังหวัดทั่วภาคเหนือ ต่างพากันมารวมตัวจัดกิจกรรมประกวด และแข่งขัน ชนกว่าง เพื่ออนุรักษ์สืบสานการละเล่นพื้นถิ่น ที่เป็นวิถีชีวิตของคนภาคเหนือ ที่มีมาตั้งแต่อดีต ซึ่งถือว่าเป็นการจัดกิจกรรมใหญ่ครั้งแรกประจำปี 2566 นี้ โดยมีผู้ที่นำ ด้วงกว่าง รวมหลายร้อยตัวเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ทั้งการประกวดประเภทลีลา และสวยงาม รวมทั้งประเภทต่อสู้ ที่ถือว่าเป็นไฮไลต์ ของการจัดงานครั้งนี้ที่เป็นการแข่งขัน ชนกว่าง แบบมาราธอน ที่จะประกบคู่ต่อสู้ตามรุ่น หรือ ขนาดตัวที่ลงทะเบียนไว้ หากแพ้จะตกรอบทันที จนเหลือผู้ชนะเพียงตัวเดียวในแต่ละรุ่น ซึ่งต้องใช้เวลาข้ามวันข้ามคืนกันเลยที่เดียวกว่าจะได้ผู้ชนะ
ทั้งนี้ นายปฤษฎางค์ แก้วตา สมาชิกชมรมสิงห์บ่อดินกว่างชนลำพูน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้อนุรักษ์ และเพาะเลี้ยงกว่างชน จากจังหวัดลำพูน ที่เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมในครั้งนี้ บอกว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นรวมตัวพบปะ และประกวดแข่งขันกว่างชนครั้งแรก และใหญ่ที่สุดของภาคเหนือในปีนี้ วัตถุประสงค์ เพื่ออนุรักษ์กว่างชน และการละเล่นพื้นถิ่นของภาคเหนือ ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต มีไฮไลต์อยู่ที่การแข่งขันชนกว่างแบบมาราธอน ที่แบ่งเป็นทั้งหมด 7 รุ่น ตามขนาดของตัวกว่างชน โดยมีผู้ที่ชื่นชอบ และเพาะเลี้ยงด้วงกว่าง หรือกว่างชนจากทั่วภาคเหนือตื่นตัว และให้ความสนใจนำกว่างชนเข้าร่วมจำนวนมาก ซึ่งขั้นตอนเริ่มตั้งแต่นำกว่างชนลงทะเบียน เพื่อให้กรรมการวัดขนาดตัวแบ่งรุ่นแข่งขัน เสร็จแล้วจึงมีการประกบคู่ และแข่งขันกันไปแบบแพ้ตกรอบจนกระทั่งได้ตัวที่ชนะเลิศได้รับถ้วยรางวัล
ขณะที่นายธีรภัทร ปงญานะ สมาชิกชมรมเพชรบ้านดู่ จากจังหวัดเชียงราย บอกว่า ชมรมเพชรบ้านดู่ เป็นการรวมตัวกันของผู้ที่ชื่นชอบ และเพาะเลี้ยงกว่างชน โดยในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้เดินทางจากจังหวัดเชียงราย นำกว่างชนเข้าร่วมการแข่งขันทั้งประเภทลีลาสวยงาม และต่อสู้ จำนวน 7 ตัว
ทั้งนี้กว่างชนที่นำมาร่วมกิจกรรมนั้น เป็นกว่างชนที่เพาะขยายพันธุ์กันเอง ซึ่งปัจจุบันกว่างชนที่มีการนำมาประกวดแข่งขันกัน ส่วนใหญ่ได้จากการเพาะขยายพันธุ์ทั้งสิ้น เพราะสามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ทำให้กว่างชนที่เพาะได้ออกมามีลักษณะรูปร่างดี และต่อสู้ได้เก่งตามพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ซึ่งการเพาะขยายพันธุ์นั้น เบื้องต้นต้องศึกษาหาความรู้ให้พร้อม และมีสิ่งที่ต้องเตรียมหลักๆ ได้แก่ พ่อพันธุ์แม่พันธุ์,วัสดุหรืออาหารที่ใช้เพาะเลี้ยง,สถานที่ที่เหมาะสม และความหมั่นเอาใจใส่ดูแลเพียงเท่านั้น โดยถือว่าไม่ได้เป็นเรื่องยากเลย หากมีความตั้งใจจริง