5 รูปแบบ ลิงก์มิจฉาชีพ พบมีการใช้หลักจิตวิทยา “รัก โลภ ตกใจ เชื่อใจ” หลอกล่อเหยื่อหลงเชื่อ ย้ำ 3 แนวทางป้องกัน “ห้ามกด ห้ามกรอก ห้ามติดตั้ง”
พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันกลุ่มมิจฉาชีพยังคงมีการพัฒนารูปแบบในการหลอกลวงพี่น้องประชาชนอยู่เสมอ
มีการนำหลักจิตวิทยา “รัก โลภ ตกใจ เชื่อใจ” มาปรับใช้ในการหลอกล่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ และมักพบว่ากลุ่มมิจฉาชีพจะมีการนำลิงก์รูปแบบต่างๆ มาใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด ถ้าผู้เสียหายหลงเชื่อกดลิงก์ แล้วกรอกข้อมูลหรือติดตั้งแอปพลิเคชันจากลิงก์ดังกล่าว ก็จะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพในที่สุด
5 รูปแบบ ลิงก์มิจฉาชีพ มีดังนี้
1. ลิงก์ดูดเงิน
คือ ลิงก์ที่หลอกให้ผู้เสียหายกรอกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงิน หรือติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อทำธุรกรรมถอนเงินจากบัญชีของผู้เสียหาย เช่น หลอกให้กรอกข้อมูลบัญชีอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง หลอกให้กรอกข้อมูลบัตรเครดิต หลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องระยะไกล เป็นต้น โดยมากจะเป็นเครื่องมือหลักของแก๊งคอลเซนเตอร์ ที่อาจอ้างหน่วยงานราชการต่างๆ สร้างเนื้อหาให้เหยื่อตกใจ โลภ เชื่อใจ แล้วหลงเชื่อ เช่น เหยื่อมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องผิดกฎหมาย , ได้รับเงินคืนจากกรณีต่างๆ(มิเตอร์ไฟฟ้า,เงินบำเหน็จบำนาญ,คืนภาษีฯลฯ) , เป็นผู้โชคดีจากแคมเปญหรือเทศกาลได้รับเงิน ของขวัญ เป็นต้น
2. ลิงก์หลอกให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล
คือ ลิงก์ที่นำไปสู่เว็บไซต์ปลอมที่มีรูปแบบคล้ายกับเว็บไซต์ของผู้ให้บริการต่าง ๆ หากเหยื่อหลงเชื่อกรอกข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลบัญชีผู้ใช้ หรือรหัสผ่าน กลุ่มมิจฉาชีพก็จะนำข้อมูลที่ได้ไปใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ
3. ลิงก์หลอกลงทุน
คือ ลิงก์ที่นำไปสู่เว็บไซต์หรือติดตั้งแอปพลิเคชันลงทุนปลอม หลอกล่อให้ผู้เสียหายลงทุนในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง โดยอ้างว่าลงทุนแล้วได้กำไรมาก ในระยะเวลาสั้นๆ มีการนำภาพนักธุรกิจหรือองค์กรธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาประกอบเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ
4. ลิงก์เว็บพนัน
คือ ลิงก์ที่นำไปสู่เว็บไซต์การพนันออนไลน์ ซึ่งจะมีทั้งเว็บไซต์การพนันออนไลน์จริง ๆ และเว็บไซต์การพนันออนไลน์ปลอม อาจมีโปรโมชั่นหลอกล่อให้เหยื่อหลงเข้าไปเล่นการพนัน หากผู้เสียหายหลงเชื่อเข้าเล่นเว็บพนันนอกจากจะเสียทรัพย์สินแล้ว ยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอีกด้วย
5. ลิงก์เงินกู้ปลอมหรือผิดกฎหมาย
คือ ลิงก์ที่นำไปสู่เว็บไซต์หรือบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ของกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินค่าใช้จ่ายในการกู้เงินก่อนแต่ไม่ได้รับเงินจริง หรือนำไปสู่เว็บไซต์หรือบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ของกลุ่มเงินกู้นอกระบบ เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราและมีการทวงหนี้โดยผิดกฎหมาย เช่น โทรมาขู่บังคับหรือต่อว่าด้วยถ้อยคำรุนแรง
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอแนะนำให้พี่น้องประชาชนปฏิบัติตามหลัก “ห้ามกด ห้ามกรอก ห้ามติดตั้ง” เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพ โดยให้ปฏิบัติดังนี้
“ห้ามกด” ห้ามกดลิงก์ที่ไม่ทราบแหล่งที่มาหรือไม่น่าไว้วางใจ
“ห้ามกรอก” ห้ามกรอกข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลบัญชีธุรกรรมทางการเงิน หรือข้อมูลบัตรเครดิต ในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่ไม่น่าเชื่อถือ
“ห้ามติดตั้ง” ห้ามติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่น่าเชื่อถือ และตรวจโทรศัพท์มือถือว่ามีแอปพลิเคชันแปลกปลอมใดติดตั้งอยู่ หรือไม่
สุดท้ายนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ บนเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือสายด่วน 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มา เว็บไซต์:www.amarintv.com