เปิดฤดูกาล Doi Inthanon Thailand By UTMB® 2023 พร้อมรับนักวิ่งเทรลทั่วโลกเข้าแข่งขันสนามเมเจอร์ จัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 7-10 ธันวาคม 2566 และได้มีการเปิดระบบรับสมัครอย่างไม่เป็นทางการล่วงหน้า โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมการแข่งขันแล้วกว่า 2,200 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ย้ำชัด ประเทศไทยคือ “หนึ่งในศูนย์กลางกีฬาวิ่งเทรลของโลก และเป็นหนึ่งเดียวของทวีปเอเชีย-แปซิฟิก”
ที่หอคำหลวง อุทยานหลวงงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ นายสิรภพ ดวงสอดศรี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในการแถลงข่าว Doi Inthanon Thailand by UTMB 2022 โดยมี พร้อมด้วยนายเขมพล อุ้ยตยะกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม รองผู้ว่าการ ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย ผู้แทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ Mrs.Sabrina De Nadai DUMONT ผู้แทนจาก UTMB Asia ร่วมแถลงข่าวเปิดรับสมัคร Doi Inthanon Thailand by UTMB 2023
นายสิรภพ ดวงสอดศรี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ประเทศไทยได้สร้างผลงานอย่างยอดเยี่ยมจากการจัดในปีที่ผ่านมา ทาง UTMBI (Ultra-Trail du Mont-Blanc International) จึงมอบสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพสนามเมเจอร์ประจำเอเชีย-แปซิฟิกต่อเนื่องไปอีก 2 ปี ด้วยความมุ่งมั่นในการทำงาน และยกระดับการจัดการแข่งขันในทุกปีอย่างต่อเนื่อง ทำให้รายการนี้เป็นที่ยอมรับจากนักวิ่งเทรลทั่วโลกที่เดินทางมาร่วมแข่งขัน ขณะนี้จึงสามารถกล่าวได้อย่างมั่นใจว่า ในวันนี้ประเทศไทยคือ “หนึ่งในศูนย์กลางกีฬาวิ่งเทรลของโลก และเป็นหนึ่งเดียวของทวีปเอเชีย-แปซิฟิก” และถือเป็นแหล่งรายได้ใหม่ของประเทศ ที่จะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจในแต่ละปีนับร้อยล้านบาท
โดยเฉพาะปี 2566 นี้ในรายการ Doi Inthanon Thailand by UTMB® คาดว่าจะมีนักกีฬา และ ผู้ติดตามกว่า 15,000 คน ที่เดินทางมาจากทั่วโลก ซึ่งสามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้มากกว่า 800 ล้านบาทได้อย่างแน่นอน
นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม รองผู้ว่าการ การกีฬาแห่งประเทศไทย ฝ่ายกีฬาอาชีพ และกีฬามวย ได้กล่าวถึงการจัดการแข่งขันในปี 2566 ที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ คือ การย้ายศูนย์กลางการจัดการแข่งขันจากอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มาอยู่ที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสามารถรองรับนักกีฬา และผู้ติดตามได้นับหมื่นคน โดยปีนี้จะทำการจัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 7-10 ธันวาคม 2566 และได้มีการเปิดระบบรับสมัครอย่างไม่เป็นทางการล่วงหน้า โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมการแข่งขันแล้วกว่า 2,200 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก
ด้าน Mrs.Sabrina De Nadai DUMONT ผู้แทน UTMB เอเชีย กล่าวชื่นชมในความสำเร็จ และการมีมาตรฐานการจัดการแข่งขันและการทำงานที่สูง จนเป็นที่ยอมรับจากนักกีฬา และ Committee ของ UTMBI (Ultra-Trail du Mont-Blanc International)
การแข่งขัน Doi Inthanon Thailand By UTMB® 2023 นี้ กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-10 ธันวาคม 2566 ณ หอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยแบ่งประเภทการแข่งขัน 6 ระยะ ได้แก่ TRANS-INT 160 ระยะทาง 179 กิโลเมตร ความสูงสะสม 9,000 เมตร, ELEPHANT 100 ระยะทาง 94 กิโลเมตร ความสูงสะสม 4,970 เมตร, HMONG 50 ระยะทาง48 กิโลเมตร ความสูงสะสม 2,410 เมตร, PALACE 20 ระยะทาง 25 กิโลเมตร ความสูงสะสม 1,220 เมตร, RAJAPRUEK 10 ระยะทาง 10 กิโลเมตร ความสูงสะสม 290 เมตร, WARM UP RUN ระยะทาง 3 กิโลเมตร เส้นทางการแข่งขันนั้นได้มีการปรับเส้นทางการแข่งขันให้ผ่านจุดธรรมชาติที่สวยงาม และมีชื่อเสียงที่สถานที่ท่องเที่ยวหลักและรองของจังหวัดเชียงใหม่ ปรับให้ผ่านหมู่บ้าน ชุมชน วัด เพื่อให้นักวิ่งได้สัมผัสบรรยากาศที่น่าประทับใจ โดยผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมแข่งขันได้ที่ https://inthanon.utmb.world/
นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม รองผู้ว่าการ ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย ผู้แทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ว่า การจัดงานวิ่งเทรลดังกล่าว เป็นครั้งที่ 4 ของการวิ่งที่ดอยอินทนนท์ และเป็นการวิ่งครั้งที่ 2 ของเมเจอร์ประจำเอเชีย-แปซิฟิก ประสบความสำเร็จอย่างสูงที่จัดวิ่งที่ดอยอินทนนท์ วันนี้ที่ดอยอินทนนท์คับแคบไปแล้วสำหรับการจัดวิ่งดังกล่าว ไม่สามารถที่จะรองรับนักวิ่งที่เดินทางมาจากทั่วโลกมาวิ่งกันจำนวนมาก และที่สำคัญเป็นห่วงเรื่องระบบนิเวศน์ จึงได้พิจารณาสถานที่ที่เหมาะสม ก็เลือกเอาที่หอคำหลวง อุทยานหลวงงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ เพราะมากด้วยความสวยงาม และมั่นใจว่านักวิ่งทั้งชาวไทยและต่างชาติประทับใจกับบรรยากาศที่สวยสดงวดงาม และในช่วงเดือนธันวาคม อากาศที่เย็นสบาย ไม่มีบรรยากาศที่สมบูรณ์แบบไปมากกว่านี้แล้ว
“ได้เลือกเส้นทางไว้หลายระยะ เราจะกระจายไปวิ่งในชุมชนต่างๆ เช่น จัดนักวิ่งไปออกสตาร์ท ที่ อ.จอมทอง ไปตามตำบลอื่นๆบ้าง ประมาณ 4-5 แห่ง และสุดท้ายทุกคนมาจบที่เส้นทางแห่งนี้ คือ ที่อุทยานหลวงงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่แห่งนี้ อย่างไรก็ก็ตามทีมทำงานของหาและเลือกจุดออกสตาร์ทที่เหมาะสม เพื่อกระจายรายได้ไปยังจุดออกสตาร์ทในพื้นที่ต่างๆในอำเภอต่างๆ ซึ่งขอเวลาคณะทำงานจะสรุปได้ในช่วง 1 เดือนนี้ จะได้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น”
ข้อถามที่ว่า การวิงเทรลจะกระทบกับธรรมชาติที่เสียหายทำให้นักอนุรักษ์ไม่เห็นด้วยนั้น นายทนุเกียรติ กล่าวว่า “การวิ่งเทรล เราเข้าใจความรู้สึกและเคารพนักอนุรักษ์ เพื่อคลายความกังวล เราเองได้พยายามเต็มที่แล้วที่กำหนดเส้นทางวิ่งที่เป็นเส้นทางแนวกันไฟอยู่แล้ว ไม่วิ่งในเส้นทางกำหนดใหม่ ไม่กระทบกับระบบนิเวศ ก็เชื่อว่าจะคลายกังวลให้นักอนุรักษ์เพราะไม่กระทบกับธรรมชาติกับสิ่งแวดล้อมแน่นอน” นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม รองผู้ว่าการ ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย