“เบี้ยผู้สูงอายุ” หรือที่เรียกกันว่า “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” คือ สวัสดิการที่ทางภาครัฐจัดสรรให้ผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายค่าครองชีพในแต่ละเดือน โดยในแต่ละปีจะมีการเปิดให้ผู้ที่มีคุณสมบัติรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรายใหม่มาลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ
แต่ใครบ้างที่จะมีสิทธิ และจะมีวิธีการลงทะเบียนเข้ารับสิทธิอย่างไร ทีมข่าวนิวมีเดีย พีพีทีวี ได้รวบรวมมาให้แล้วดังนี้
เช็กเงื่อนไขการรับสิทธิเบี้ยผู้สูงอายุ
คุณสมบัติตามระเบียบเดิม
ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ผู้ที่จะได้รับเงินเบี้ยผู้สูงอายุ ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- มีสัญชาติไทย
- มีอายุ 60 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ลงทะเบียน และยื่นคำขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- กรณีที่ผู้สูงอายุที่มีบุตรทำงานในหน่วยงานรัฐ หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังสามารถรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ด้วย
- กรณีที่ผู้สูงอายุได้รับเงินบำนาญพิเศษตลอดชีวิตแทนจากการที่บุตรปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศจนร่างกายพิการ ทุพลภาพ หรือเสียชีวิต ยังสามารถรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ด้วย
- กรณีที่ผู้สูงอายุที่ได้รับบัตรสวัสดิการคนจนจากรัฐ ยังสามารถรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ด้วย
คุณสมบัติตามระเบียบใหม่ ล่าสุดยังไม่ใช้จนกว่าจะเคาะเกณฑ์ชี้วัดความมีรายได้ไม่เพียงพอ
แม้จะมีระเบียบกระทรวงมหาดไทยใหม่ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ที่มีการปรับหลักเกณฑ์การจ่ายให้กับผู้มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ มีผลตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไปออกมาแล้วนั้น
โดยระบุหลักเกณฑ์ผู้มีคุณสมบัติใหม่เพิ่มเติมว่า
- มีสัญชาติไทย
- มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ยืนยันสิทธิขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- เป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด
ล่าสุดยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์ชี้วัดการมีรายได้ไม่เพียงพอ ดังนั้นตอนนี้ผู้มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ที่มีคุณสมบัติตามระเบียบเดิมข้างต้น ยังสามารถรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้
ใครบ้างไม่สามารถรับสิทธิ
การรับสิทธิเบี้ยผู้สูงอายุนั้น เป็นไปเพื่อเป็นเงินช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายค่าครองชีพในแต่ละเดือน โดยเฉพาะผู้ที่อาจมีรายได้ในแต่ละเดือนไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย ทำให้ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีสิทธิได้
โดยผู้ที่ไม่สามารถรับสิทธิเบี้ยผู้สูงอายุได้ คือ
- ผู้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ เงินบำนาญ เบี้ยหวัด
- เงินอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายกับเงินเบี้ยยังชีพ เช่น ผู้สูงอายุที่เคยทำงานและได้รับเงินเดือน มีรายได้ประจำ หรือผลตอบแทนอื่น ๆ จากหน่วยงานรัฐ หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
อัตราการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ
ปัจจุบันการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ แบ่งเป็นขั้นบันไดตามช่วงอายุ คือ
- อายุ 60-69 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 600 บาท
- อายุ 70 – 79 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 700 บาท
- อายุ 80 – 89 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 800 บาท
- อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 1,000 บาท
วิธีลงทะเบียนรับสิทธิ
ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 59 ปีบริบูรณ์ โดยเกิดก่อนวันที่ 1 ตุลาคมของปีนั้นๆ สามารถไปลงทะเบียนรับเบี้ยผู้สูงอายุล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมของปีเดียวกัน และเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีถัดไป ก็จะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตั้งแต่เดือนตุลาคม ซึ่งในปีนี้ก็คืออายุครบ 60 ปีเดือนตุลาคน 2566 นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ตามระเบียบใหม่ (ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566) ที่ออกมานั้น การได้รับสิทธิของผู้สูงอายุ จะไม่มีการลงทะเบียนแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะอำนวยความสะดวกให้ ด้วยการแจ้งไปยังผู้สูงอายุที่มีสิทธิ แล้วให้ตัวเอง/ตัวแทนของผู้สูงอายุ แนบเอกสารกลับมาที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ
- แบบยืนยันสิทธิการขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร สำหรับกรณีที่ผู้ประสงค์ขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุผ่านธนาคาร
ทั้งนี้ การจะรับสิทธิตามระเบียบใหม่นั้น จะต้องรอการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติอีกครั้ง ขอให้จับตาดูต่อไป แต่ในตอนนี้นั้นผู้ที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ยังต้องดำเนินการลงทะเบียนรับสิทธิตามเดิม
หลักฐานการลงทะเบียนรับสิทธิ
การเตรียมหลักฐานเพื่อลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะต้องเตรียมเอกสาร ประกอบด้วย
1.) กรณีลงทะเบียนด้วยตนเอง
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 1 ชุด
- สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 1 ชุด
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก (ออมทรัพย์) จำนวน 1 ชุด
2.) กรณีผู้สูงอายุไม่สามารถไปลงทะเบียนได้ด้วยตัวเอง ต้องเตรียมเอกสารเพิ่มคือ
- หนังสือมอบอำนาจ (ยื่นแบบฟอร์มให้ติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ จำนวน 1 ชุด
- สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ จำนวน 1 ชุด
ขั้นตอนการยื่นขึ้นทะเบียน
การยื่นขึ้นทะเบียนและแนวทางการปฎิบัติของผู้สูงอายุ ประกอบด้วย
- ประกาศและประชาสัมพันธ์ให้ผู้สูงอายุทราบสิทธิของตนเอง
- ลงทะเบียนตามวัน เวลา สถานที่ที่กำหนด (ในวันและเวลาราชการ)
- ให้ผู้สูงอายุลงทะเบียนได้ตามแบบรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ด้วยตนเอง
สถานที่ในการขึ้นทะเบียน
- จุดบริการใน กทม. : สำนักงานเขต 50 เขต
- กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) : ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคมสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม.
- องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น : องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาลที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
การรับเบี้ยผู้สูงอายุ
การรับเบี้ยผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุสามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเอง หรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปดำเนินการแทนได้
- ช่องทางการจ่ายเงิน
ภาครัฐจะโอนเงินผ่านธนาคารที่ผู้สูงอายุแจ้งมาให้ ทุกวันที่ 10 ของทุกเดือน ถ้าวันที่ 10 ของเดือนใดตรงกับวันหยุดเสาร์อาทิตย์ หรือ วันหยุดนักขัตฤกษ์ ก็จะเลื่อนเวลาจ่ายเงิน เป็นก่อนวันที่ 10 ของเดือนนั้น ๆ ดังนั้นอาจจะได้รับเงินไม่ตรงวันที่ 10 ในแต่ละเดือน โดยในปีนี้ภาครัฐจะโอนเงินเข้าบัญชีตามวันที่ ดังต่อไปนี้
- มกราคม 2566 : วันอังคารที่ 10 มกราคม 2566
- กุมภาพันธ์ 2566 : วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566
- มีนาคม 2566 : วันศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2566
- เมษายน 2566 : วันจันทร์ที่ 10 เมษายน 2566
- พฤษภาคม 2566 : วันพุธที่ 10 พฤษภาคม 2566
- มิถุนายน 2566 : วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน 2566
- กรกฎาคม 2566 : วันจันทร์ที่ 10 กรกฎาคม 2566
- สิงหาคม 2566 : วันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม 2566
- กันยายน 2566 : วันศุกร์ที่ 8 กันยายน 2566
- ตุลาคม 2566 : วันอังคารที่ 10 ตุลาคม 2566
- พฤศจิกายน 2566 : วันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2566
- ธันวาคม 2566 : วันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม 2566
“เบี้ยผู้สูงอายุ” ถือเป็นสิทธิและสวัสดิการที่ผู้สูงอายุชาวไทยทุกคนควรจะได้รับ ดังนั้นถ้าใครที่อายุครบ 59 ปีบริบูรณ์แล้ว หรือมีบุคคลในครอบครัวอายุถึงแล้ว อย่าลืมพาท่านไปลงทะเบียนเพื่อเข้ารับสิทธิ หรือให้ท่านเซ็นมอบอำนาจให้คนในครอบครัวไปดำเนินเรื่องแทน
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และ กรมกิจการผู้สูงอายุ
ที่มา pptvhd