จากกรณีสื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ข้อมูลธนบัตรปลอมมูลค่า 1,000 บาทระบาดในพื้นที่จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2567 เวลา 10.00 น. ที่สี่แยกไฟแดง ตลาดเทพจินดา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง นายอดิศักดิ์ วรรณ ทองอายุ 53 ปี ได้โพสต์ลงกลุ่มแจ้งข่าวเตือนภัยบ้านฉาง ระวังแบงก์พันบาทไทยปลอมกันด้วย
ทางด้าน นายอดิศักดิ์ เล่าว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ตนเดินไปเพื่อรอขึ้นรถโดยสาร เมื่อถึงบริเวณหน้าซอยสุขุมวิท 39 เห็นแบงก์พันบาทตกอยู่ริมถนน ตนจึงคิดว่าวันนี้โชคดีได้โชคแล้ว จึงนำกลับมาที่บ้านและให้น้องชายช่วยดู ปรากฏว่าเป็นแบงค์ปลอมเ เอามาเทียบกับแบงก์จริงแล้วขนาดมันต่างกันมาก จึงโพสต์เตือนภัยสำหรับร้านค้าต่างๆ และยิ่งถ้าเป็นช่วงกลางคืน อยากให้ระวังกันไว้มากๆ ยิ่งช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดีข้าวของแพงทุกอย่าง แล้วก็มาเจอแบงก์ปลอมระบาดอีกแบบนี้ อยากฝากเตือนไว้เป็นอุทาหรณ์
ขณะที่ผู้สื่อข่าวได้ลองจับแบงก์ปลอมนั้น เนื้อสัมผัสจะด้านๆ เหมือนกระดาษ A4 ด้านหน้าที่มีรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 อยู่ จะมีคำว่า Copy และ แบงก์มีภาษาคล้ายๆ ภาษากัมพูชา ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีสาวชาวบ้านเพคนหนึ่งเจอแบงก์ดอลลาร์ปลอม ก็มีคำว่า Copy และภาษากัมพูชาเหมือนกัน เช่นเดียวกับเมื่อช่วงวันที่ 20 เมษายน 2567 ก็มีแม่ค้าโพสต์เตือนภัย แบงก์ร้อยปลอมเหมือนกัน
เบื้องต้นนายอดิศักดิ์ได้มาลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สภ.บ้านฉาง จ.ระยอง แล้วมอบแบงก์ปลอมไว้ให้กับตำรวจแล้ว เรียกได้ว่าช่วงนี้เศรษฐกิจข้าวของทุกอย่างแพงขึ้นแบงก์ปลอมก็อาละวาดหนักมาก อยากให้ประชาชนทุกคนให้ระวังภัยกันด้วย
สำหรับการใช้ธนบัตรปลอมซื้อของ โทษสูงสุดติดคุก 15 ปี โดยการใช้ธนบัตรปลอมในการซื้อสินค้าและบริการ เป็นการกระทำที่มีความผิดตามกฎหมายอาญา โดยแบ่งความผิดตามเจตนาของผู้ใช้ธนบัตรปลอมออกเป็น 2 ประเด็นหลัก
-
ได้ธนบัตรปลอมมาโดยไม่รู้ว่าเป็นของปลอม แต่ต่อมาเมื่อรู้ว่าเป็นของปลอมแล้วยังขืนนำออกไปซื้อสินค้าและบริการ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 245
-
การมีธนบัตรปลอมไว้เพื่อใช้โดยที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นของปลอม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-15 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000-30,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244
ที่มา ไทยนิวส์ออนไลน์