เงินสวัสดิการผู้สูงอายุ 13 รายการ รับสิทธิกว่า 1 แสนบาทต่อคน

เปิดรายละเอียดสิทธิและสวัสดิการ สำหรับผู้สูงอายุ ตาม พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 11 จำนวน 13 รายการ สามารถขอรับสิทธิความช่วยเหลือสูงสุดเกือบ 1 แสนบาท  

ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสมบูรณ์ โดยมีจำนวนผู้สูงอายุ (อายุเกิน 60 ปี) กว่า 13 ล้านคน คิดเป็น 20% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย ตั้งแต่ปี 2548 ที่เริ่มมีอัตราส่วนของประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 10% ของประชากรทั้งประเทศ

รัฐจึงจำเป็นต้องจัดสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ โดยกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ซึ่งผู้สูงวัยสามารถรับสิทธิขอสวัสดิการสูงสุดเกือบ 1 แสนบาทต่อราย นอกจากเบี้ยยังชีพทุกเดือน 600-900 บาท ยังได้รับสิทธิต่อเติมบ้านสูงสุด 40,000 บาท รวมทั้งกู้ยืมประกอบอาชีพรายละ 30,000 บาท

เปิด 13 สิทธิผู้สูงอายุ รับเงินกว่า 1 แสนบาท/คน

1.เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยผู้ที่อายุ 60-69 ปีได้รับ 600 บาทต่อเดือน อายุ 70-79 ปีได้รับ 700 บาทต่อเดือน อายุ 80-89 ปีได้รับ 800 บาทต่อเดือน และอายุ 90 ปีขึ้นไปได้รับ 1,000 บาทต่อเดือน

2.การลดหย่อนค่าโดยสาร ได้รับส่วนลดค่าโดยสารในการเดินทาง 50% สำหรับ ขสมก. เรือโดยสาร และรถไฟฟ้า MRT ส่วนรถไฟฟ้า BTS และแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ให้บัตรโดยสารผู้สูงอายุลด 50%

3.ลดหย่อนภาษี บุตรที่เลี้ยงดูบิดามารดา ยื่นขอลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาท ต่อผู้สูงอายุ 1 คนต่อปี

4.ปรับสภาพที่อยู่อาศัย สามารถขอปรับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกให้มีความปลอดภัย ในอัตราเหมาจ่าย 22,500 บาท หรือ 40,000 บาท โดยต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้มีฐานะยากจน หรือรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ หรือได้รับแต่ไม่เพียงพอ และที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง ไม่เหมาะสม หรือไม่ปลอดภัยกับการดํารงชีวิตของผู้สูงอายุ

5.กู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ สามารถยื่นกู้ปลอดดอกเบี้ย จากกองทุนผู้สูงอายุ อัตราเหมาจ่าย รายบุคคลได้วงเงินไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน รายกลุ่มไม่น้อยกว่า 5 คน ได้วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท แต่จะต้องมีผู้ค้ำประกัน และชำระคืนทุกเดือนเป็นระยะเวลา 3 ปี

6.สิทธิทางอาชีพ สามารถขอข้อมูล คำปรึกษาการรับสมัครงาน ตำแหน่งงานว่าง การอบรมอาชีพ และฝึกอาชีพ ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ

7.ด้านการบริการสาธารณะและสิ่งอำนวยความสะดวก ในพิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน หอจดหมายเหตุ หรืออื่น ๆ จะจัดจุดอำนวยความสะดวก เช่น ลิฟต์ ราวบันได ทางลาด ที่จอดรถ และการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ให้ความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย

8.สิทธิทางการศึกษา โดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน. พัฒนาหลักสูตร เพื่อให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้ตลอดชีวิต และสอดคล้องกับความต้องการ ทำให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุข

9.สิทธิทางการแพทย์และสาธารณสุข ในสถานพยาบาลของรัฐ จะได้รับบริการผ่านช่องทางพิเศษ เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องรอคิวนาน

10.สิทธิการช่วยเหลือทางกฎหมาย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เช่น สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจ้างทนาย ค่าธรรมเนียมขึ้นศาล ค่าวางเงินประกันปล่อยตัวชั่วคราว เป็นต้น

11.ยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้น

12.สิทธิการมีส่วนร่วมในกิจการสังคม จะได้รับการส่งเสริมให้มีกิจการสังคมภายในชุมชน เช่น ชมรมผู้สูงอายุ สนามกีฬา ศูนย์สุขภาพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ศูนย์กีฬาในร่มได้รับส่วนลด 50%

13.ผู้สูงอายุที่ยากจน ทุกข์ยาก เดือดร้อนเรื่องอาหารและเครื่องนุ่งห่ม จะได้รับการช่วยเหลือเป็นเงินไม่เกินวงเงินครั้งละ 3,000 บาท ไม่เกิน 3 ครั้งต่อคนต่อปี โดยผู้สูงอายุที่ยากจนและขาดผู้ดูแลสามารถแจ้งความประสงค์ขอเข้าใช้บริการได้ที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุได้ และเมื่อมีการเสียชีวิต สามารถยื่นขอรับเงินจัดการศพรายละไม่เกิน 3,000 บาท สามารถยื่นความประสงค์ได้ที่สำนักงานเขต หรือ อบต. หรือเทศบาล ภายใน 6 เดือนนับจากวันที่ออกใบมรณบัตร

– Website : https://www.prachachat.net

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า