กรมควบคุมโรค ชี้ “ฝีดาษวานร” เปลี่ยนรูปแบบระบาด พบมากขึ้นในกลุ่มเยาวชน “ชายรักชาย”
เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพบผู้ติดเชื้อฝีดาษวานร (Monkey pox) หรือ Mpox ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น และเริ่มพบในกลุ่มเยาวชน ซึ่งล่าสุดอายุน้อยที่สุด 16 ปี ว่า สถานการณ์โรคฝีดาษวานร ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565-สิงหาคม 2566 มีผู้ป่วยติดเชื้อ 316 ราย จำนวนเพิ่มขึ้นช่วงเดือนหลังๆ ค่อนข้างเร็ว โดยเดือนสิงหาคม เพิ่มถึง 145 ราย ที่น่าห่วงคือ มีเยาวชนอายุ 15-24 ปี ติดเชื้อจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมถึง 16 ราย จากทั้งหมด 28 ราย ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางระบาดวิทยาที่เดิมพบในวัยทำงาน
“อย่างช่วง 2-3 เดือนที่แล้ว อายุเฉลี่ยคือ 30 ปีปลายๆ ตอนนี้พบอายุน้อยลง และเริ่มมีเด็กนักเรียน เป็นการเปลี่ยนแปลงการระบาดในกลุ่มเสี่ยงเดิมที่มีชายรักชายเป็นหลัก ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ตอนนี้มาเยาวชน ส่วนการติดเชื้อเอชไอวีและฝีดาษวานร ร่วมกันก็คล้ายกับต่างประเทศ เพราะกลุ่มที่ยังไม่ได้รักษาเอชไอวี มักมีภูมิคุ้มกันต่ำ เมื่อรับเชื้อฝีดาษวานรมีโอกาสแสดงอาการได้ง่าย บางรายอาจมีอาการรุนแรง ซึ่งเคยเกิดที่ยุโรปมาก่อน ซึ่ง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ไทยก็พบเช่นนี้ โดยเดือนที่แล้วพบ 1 ราย ที่มีอาการรุนแรง จริงๆ คือมีเอชไอวีอยู่เดิม มีการติดเชื้อหลายตัว ทั้งเชื้อรา ปอดอักเสบ และฝีดาษวานรด้วย ทำให้อาการรุนแรงจนเสียชีวิต แม้จะได้รับยาต้านไวรัสแล้ว” นพ.โสภณกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การสอบสวนโรคในกลุ่มเยาวชนมีความยากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ปัจจัยเสี่ยงยังเหมือนผู้ใหญ่หรือไม่ นพ.โสภณกล่าวว่า เยาวชน คือ อายุ 15-24 ปี ถ้ายังไม่เกิน 20 ปี หรือบรรลุนิติภาวะ การสอบถามต้องดูเรื่องของประเด็นด้านจิตใจด้วย
“ไม่เหมือนผู้ใหญ่ที่เราสามารถพูดคุยได้เลย แต่หลักการเหมือนเดิม หน่วยงานที่ทำหน้าที่ป้องกัน สอบสวนควบคุมโรค ต้องการข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วยรายนั้น และติดตามผู้สัมผัสให้การดูแลที่เหมาะสม โดยทั่วไปได้รับความร่วมมือดี ขณะนี้ไม่มีการระบุชื่อ สถานที่ทำงานที่เรียนหรืออำเภอก็ตาม แต่ข้อมูลต้องได้รับเพื่อดูแลคนอื่นต่อ เพื่อเป็นข้อมูลในการสื่อสารให้ความรู้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ให้สอดคล้องสถานการณ์โรคที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ส่วนปัจจัยเสี่ยงยังเป็นเพศสัมพันธ์เหมือนผู้ใหญ่ เพราะอายุน้อยที่สุดคือ 16 ปี เป็นวัยที่ Sexual Active แล้วมีเพศสัมพันธ์แล้ว จึงเป็นปัจจัยที่เหมือนผู้ใหญ่ แต่หวังว่าปัจจัยนี้จะลดได้ในวัยรุ่นเยาวชนเมื่อมีความรู้ความเข้าใจ ก็จะดูแลตัวเองให้ปลอดภัย และอาจช่วยสื่อสารเพื่อนรุ่นเดียวกัน ร่วมชั้นร่วมโรงเรียนได้ป้องกันความเสี่ยงไม่ให้เกิดขึ้น” นพ.โสภณกล่าว
เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่เมื่อแพร่มาถึงกลุ่มเยาวชนแล้วจะแพร่กระจายเร็วขึ้นกว่าเดิม นพ.โสภณกล่าวว่า ถ้าเทียบกับวัยทำงาน ความเร็วอาจจะไม่ต่างกัน เพราะคนที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือพฤติกรรมเสี่ยง น่าจะไม่ถึงขนาดแตกต่างกันมาก หากมีความตระหนัก ใส่ใจดูแลป้องกันตนเอง น่าจะทำให้โอกาสการแพร่ระบาดไม่ต่างกันเท่าไรนัก เราสังเกตเห็นว่า กลุ่มที่ได้รับความรู้ช่องทางต่างๆ เริ่มมีการปรับปลี่ยนพฤติกรรม ฉะนั้น แม้จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้เร็วมากเหมือนที่ยุโรปเกิดการระบาด แต่ยังเป็นอัตราเพิ่มแบบเกือบ 2 เท่า ในทุกเดือน ถือว่ายังต้องใช้ทุกมาตรการลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ
ต่อข้อถามว่า แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของฝีดาษวานร เหมือนหรือแตกต่างจากตอนเชื้อเอชไอวีเข้ามาประเทศไทยแรกๆ หรือไม่ อย่างไร นพ.โสภณกล่าวว่า คิดว่าต่างกัน เพราะมีการสื่อสารเร็ว ให้ความรู้ที่ถูกต้อง อัตราการแพร่เชื้อช้ากว่าเอชไอวีช่วงแรกในประเทศไทย เพราะมีต้นทุนความรู้ ป้องกันตนเองจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รวมทั้งเอชไอวีมาแล้ว การที่เราเน้นย้ำโรคนี้ในส่วนที่พิเศษเพิ่มเติมบางประเด็น ทำให้ประชาชนมีความรับรู้และตระหนักเร็วขึ้น เมื่อเทียบกับเอชไอวี ซึ่ง 30 ปีมาแล้ว ตอนนั้นมาใหม่ๆ คนยังไม่มีความรู้ในการป้องกัน มีการรังเกียจ ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ก็แตกต่างกันเยอะ
เมื่อถามว่า คนคิดว่าฝีดาษวานรติดทางเพศสัมพันธ์เท่านั้น ใส่ถุงยางอนามัยแล้วจะป้องกันได้ นพ.โสภณกล่าวว่า ฝีดาษวานรไม่ได้ติดเฉพาะขณะที่มีเพศสัมพันธ์เท่านั้น ดูจากผู้ป่วยที่ไปรักษาที่โรงพยาบาล หลายรายมีตุ่มหนองบริเวณหน้าท้องหรือก้น ที่อาจสัมผัสกันได้ ไม่ได้มีเฉพาะขณะมีเพศสัมพันธ์โดยตรงอย่างเดียว การสัมผัสใกล้ชิดในกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกันเพิ่มความเสี่ยงการรับเชื้อ วิธีป้องกัน แนะนำว่า งดการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก เพราะไม่มีโอกาสได้สอบถามก่อน หรือไม่ได้ดูด้วยซ้ำว่ามีแผล ตุ่ม ผื่นเข้าได้กับลักษณะของโรคหรือไม่ในบริเวณที่มีโอกาสไปสัมผัสแนบเนื้อ ยังเป็นคำแนะนำที่ใช้ได้อยู่ ขอให้สังเกตละเอียดรอบคอบ แต่สำคัญคือเลี่ยงหรืองดมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยไปเลย
ต่อข้อถามถึงความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในการเน้นย้ำการป้องกันในเยาวชน นพ.โสภณกล่าวว่า ที่ผ่านมา สธ.และ ศธ.มีความร่วมมืออย่างต่อเนื่องดูแลนักเรียน เยาวชน เช่น การให้ความรู้เพศศึกษา การดูแลสุขภาพทางเพศ ก็เพิ่มอีก 1 โรคเข้าไป อาจมีจุดเน้นพิเศษ เช่น เรื่องการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน ก็ยังเป็นผู้ติดเชื้อเพศชายเป็นหลัก ก็ต้องเน้นย้ำ เพศหญิงก็มีความเสี่ยงอยู่บ้าง แม้ว่าจะน้อยกว่า ก็คงให้ความรู้ควบคู่กันไป
เมื่อถามถึงกรณีการปกปิดข้อมูลจนกระทบต่อการสอบสวนโรค นพ.โสภณกล่าวว่า ความยากเป็นการคุยปัจจัยเสี่ยงเรื่องทางเพศ การให้ชื่อเป็นใคร เรื่องจำนวนอาจจะไม่แม่นยำ หากผู้ให้ข้อมูลไม่ต้องการจะให้ครบถ้วน แต่คิดว่าเราอาจไม่ได้ต้องการชื่อ ที่อยู่ แบบครบถ้วน 100% แต่ต้องการให้ได้ทราบเพื่อประเมินความเสี่ยง และให้โอกาสกลุ่มเหล่านี้เข้ามาตรวจรักษาได้เร็วขึ้น เมื่อมีข้อมูล คิดว่าจะดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน เมื่อผู้ป่วยมีความรู้ความเข้าใจและกลุ่มเสี่ยงเห็นประโยชน์ของการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ทันต่อการป้องกัน
เมื่อถามต่อไปว่า การพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นยังไม่ต้องถึงขั้นยกระดับมาตรการใช่หรือไม่ นพ.โสภณกล่าวว่า ทุกหน่วยงานที่ทำงานร่วมกันทั้งรัฐและเอกชนมีการหารือกันมาโดยลำดับ ก็ใช้ทุกกลไก เช่น สื่อสารสาธารณะ โซเชียลมีเดีย ใช้กลไกองค์กร เช่น โรงเรียน เอ็นจีโอที่ทำงานสุขภาพทางเพศ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้ความรู้ประชาชน
ต่อข้อถามถึงยาและวัคซีนที่จะนำมาใช้ นพ.โสภณกล่าวว่า ยารักษาองค์การอนามัยโลกจัดให้ สำหรับรายที่มีอาการรุนแรง โดยมีการเก็บข้อมูลดูประสิทธิผล เพราะไม่ได้ขึ้นทะเบียนใช้สำหรับฝีดาษวานร มีการกระจายใช้ในสถาบันบำราศนราดูร รวมถึงจังหวัดที่มีผู้ป่วยมาก เช่น ชลบุรี ภูเก็ต ฯลฯ แต่ยาไม่ได้มีมาก มีประมาณกว่า 100 ราย ขณะนี้ใช้ไปร้อยละ 10-20 หากจำเป็นก็ขอสนับสนุนเพิ่มได้ ส่วนวัคซีนจะเป็นเครื่องมือต่อไป ซึ่งผู้บริหาร สธ.ให้ประสานองค์การอนามัยโลกและประเทศที่มีวัคซีนบริจาค รวมทั้งใช้กลไกของอาเซียน 10 ประเทศ ที่มีความร่วมมือด้านสาธารณสุข คาดว่าจะได้วัคซีนในปลายปีนี้ ซึ่งวัคซีนส่วนหนึ่งขึ้นทะเบียนเพื่อใช้สำหรับฝีดาษคน แต่พอมีฝีดาษวานรเอาไปใช้ก็ได้ประโยชน์ในการป้องกัน ก็สามารถเอามาใช้ได้ แต่ต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน