อาหารชะลอวัยต้านแก่ ลดการอักเสบของร่างกาย สร้างสุขภาพที่ดีในระยะยาว

คำว่า “แก่” แค่พูดเบาๆ ก็เจ็บ นอกจากอายุที่มากขึ้นแล้ว การกินอาหารบางชนิดก็ยิ่งเร่งปฏิกิริยาการอักเสบในร่างกายให้แก่ก่อนวัยอันควร ขณะเดียวกันอาหารบางชนิดก็มีส่วนช่วยในการชะลอวัย เสริมสร้างสุขภาพแข็งแรงได้อย่างยั่งยืน

อาหารชะลอวัย คืออาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ที่ช่วยต่อต้านการอักเสบภายในร่างกาย พญ.กฤดากร เกษรคำ แพทย์ American Board of Anti-Aging Medicine จาก Addlife Anti-Aging Center ชั้น 2 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) เผยว่าสามารถพบได้ในอาหารดังต่อไปนี้

1. ผักใบเขียวเข้ม

ผักใบเขียวคืออาหารที่ดีต่อสุขภาพและยังเป็นอาหารชะลอวัยได้ โดยผักใบเขียวเข้ม เช่น ผักคะน้า ผักโขม บรอกโคลี อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี วิตามินอี เบตาแคโรทีน และลูทีน ซึ่งสารเหล่านี้ทำหน้าที่ปกป้องเซลล์จากความเสียหาย เมื่อเซลล์ถูกทำลายน้อยก็ยิ่งรักษาความอ่อนเยาว์ได้นานขึ้น

ภาพจาก iStock

2. ผลไม้ตระกูลเบอร์รี

ผลไม้ตระกูลเบอร์รี เช่น บลูเบอร์รี ราสเบอร์รี สตรอว์เบอร์รี เป็นอาหารเสริมที่หาได้ง่ายและช่วยชะลอวัยได้ เพราะในผลเบอร์รีอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น แอนโทไซยานิน ฟลาโวนอยด์ และกรดเอลลาจิก ที่มีส่วนช่วยต่อสู้กับอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของความเสื่อมของเซลล์และริ้วรอยก่อนวัย

ภาพจาก iStock

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลไม้ตระกูลเบอร์รีจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย แต่ก็ยังมีน้ำตาลธรรมชาติอยู่ ซึ่งการทานน้ำตาลมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น เพิ่มความเสี่ยงโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ ดังนั้น จึงควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ

3. ถั่ว

ไม่ว่าจะเป็นอัลมอนด์ ถั่วพิสตาชิโอ หรือถั่วแมคาเดเมีย ต่างก็อุดมด้วยสารอาหารช่วยชะลอวัย โดยเฉพาะวิตามินอีและแมกนีเซียม อย่างไรก็ตาม ถั่วเหล่านี้มีปริมาณไขมันสูง

ภาพจาก iStock
  • ถั่วอัลมอนด์ 1 ออนซ์ (ประมาณ 23 เมล็ด) มีไขมัน 14 กรัม
  • ถั่วพิสตาชิโอ 1 ออนซ์ (ประมาณ 49 เมล็ด) มีไขมัน 12 กรัม
  • ถั่วแมคาเดเมีย 1 ออนซ์ (ประมาณ 10-12 เมล็ด) มีไขมัน 15 กรัม

ดังนั้น จึงควรรับประทานในปริมาณที่พอดี รวมถึงผู้ที่มีอาการแพ้ถั่วควรหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาด

4. ธัญพืชไม่ขัดสี

ภาพจาก iStock

คือเมล็ดพืชที่ยังคงส่วนประกอบสำคัญครบถ้วน ประกอบด้วยเยื่อหุ้มเมล็ด เนื้อข้าว และจมูกข้าว เปรียบเสมือนขุมทรัพย์ของสารอาหาร เช่น ใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ ไขมันดี และสารต้านอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะงาดำ งาขาว งาขี้ม่อน ลูกเดือย รวมถึงคีนัว ที่ถือเป็นอาหารเสริมที่หาได้สะดวกในชีวิตประจำวันและช่วยชะลอวัยได้เป็นอย่างดี แต่ก็ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะเช่นกัน

5. ปลา

ภาพจาก iStock

ปลาหลายชนิด เช่น ปลาแซลมอน ปลาทู ปลาแมกเคอเรล ถือเป็นอาหารชะลอวัยที่ครบครันทั้งรสชาติที่อร่อย และความสะดวกในการหารับประทานในชีวิตประจำวัน แต่ปลาเหล่านี้ก็มีไขมันอยู่ไม่น้อยเช่นกัน จึงควรรับประทานในรูปแบบนึ่ง หรือย่าง หลีกเลี่ยงการทอดน้ำมัน เพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

6. น้ำมันมะกอก

เป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน ด้วยสรรพคุณมากมายด้านสุขภาพ หนึ่งในนั้นคือการเป็น “อาหารชะลอวัย” ที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคเรื้อรัง และทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง อย่างไรก็ตาม น้ำมันมะกอกมีหลายประเภท แต่ละประเภทมีจุดเด่นและเหมาะกับการใช้งานที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงควรเลือกน้ำมันมะกอกให้เหมาะสมกับชนิดของอาหาร เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด

ภาพจาก iStock
  • น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์พิเศษ (Extra Virgin Olive Oil): น้ำมันมะกอกที่มีคุณภาพสูงที่สุด ผ่านกรรมวิธีการสกัดแบบเย็น คงไว้ซึ่งรสชาติ กลิ่น และสารอาหารครบถ้วน เหมาะสำหรับการกินแบบไม่ผ่านความร้อน เช่น ราดบนสลัด ทานคู่กับขนมปัง หรือใช้ทำน้ำสลัด
  • น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ (Virgin Olive Oil): เป็นน้ำมันมะกอกที่มีคุณภาพรองลงมา ผ่านกรรมวิธีการสกัดแบบใช้ความร้อน มีรสชาติและกลิ่นที่อ่อนกว่า เหมาะสำหรับการปรุงอาหารด้วยความร้อนต่ำ เช่น ทอด ปิ้ง ย่าง หรือใช้ทำน้ำสลัด
  • น้ำมันมะกอก (Olive Oil): น้ำมันมะกอกที่ผ่านกรรมวิธีการกลั่น มีจุดเด่นคือราคาถูก ทนความร้อนสูง เหมาะสำหรับการทอดอาหารด้วยไฟปานกลางถึงไฟแรง

7. ชาเขียว

เป็นเครื่องดื่มชะลอวัยที่อุดมไปด้วยสารโพลีฟีนอล โดยเฉพาะ EGCG (Epigallocatechin Gallate) ที่มีประสิทธิภาพสูงในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องเซลล์จากความเสียหาย ชะลอความเสื่อมของเซลล์

ภาพจาก iStock

นอกจากนั้น EGCG ยังช่วยกระตุ้นการสร้าง “เอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ” ภายในร่างกาย ทำให้ร่างกายมีเกราะป้องกันตัวเองจากอนุมูลอิสระได้ดียิ่งขึ้น และเพื่อสุขภาพที่ดี แนะนำการดื่มแบบชงน้ำร้อน หลีกเลี่ยงการเติมนมหรือน้ำตาล

และที่สำคัญควรรับประทานอาหารชะลอวัยในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับน้ำตาลและพลังงานที่มากเกินไป ด้านเว็บไซต์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่แนะนำว่าควรจัดจานอาหารแบบ 2:1:1 (แบ่ง 2 ส่วนเป็นผักใบเขียว 1 ส่วนเป็นข้าวหรือแป้ง และอีก 1 ส่วนเป็นโปรตีน) หากรับประทานผักผลไม้ครบ 5 สี วิตามินเกลือแร่จะครบถ้วน ส่วนผักที่เป็นหัว เช่น ฟักทอง เผือก แครอท มัน ข้าวโพด ให้จัดอยู่ในส่วนของข้าวแป้งไม่ใช่ส่วนของผักใบเขียว เนื่องจากมีคาร์โบไฮเดรต

ภาพจาก iStock

นอกจากนี้ควรเลี่ยงอาหารที่ทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบ เช่น อาหารขยะ อาหารจานด่วน อาหารแช่แข็ง ควรได้รับอาหารที่สดใหม่และควรระวังยาฆ่าแมลงที่ปนเปื้อนในผักผลไม้ หรือรับประทานผักผลไม้ที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) ให้ออกนอกฤดูกาล หรือทำให้เกิดผลใหญ่ อาจมีสารเคมีที่ไม่ดีต่อร่างกาย ดังนั้น ควรรับประทานพืชผักผลไม้ตามฤดูกาลจะดีกว่า หรือบางคนมีภาวะพร่องหรือขาดวิตามินบางชนิด ทำให้กระบวนการเผาผลาญอาหารในร่างกายไม่สมบูรณ์

– Website : www.thairath.co.th

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า