เชียงใหม่ – สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่เตือนเฝ้าระวังใกล้ชิดโรคฝีดาษวานร พบผู้ป่วยยืนยันในพื้นที่แล้ว 2 ราย ขณะเดียวกันจับตาเข้มสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกที่แนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ชี้หากปลายเดือน ส.ค. 66 นี้ยังไม่คลี่คลายจ่อประกาศเป็น “พื้นที่โรคระบาดไข้เลือดออก”
ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงสถานการณ์เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษวานร (Mpox) ว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 15 ส.ค. 66 ประเทศไทยพบผู้ป่วยยืนยันแล้วจำนวน 217 ราย เป็นชาวไทย 187 ราย ต่างชาติ 30 ราย และส่วนใหญ่เป็นเพศชาย นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรเสียชีวิตรายแรกของประเทศไทยแล้ว เป็นชายจังหวัดชลบุรี อายุ 34 ปี มีอาการตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 66 และเสียชีวิตลงในวันที่ 11 ส.ค. 66 ที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากการติดเชื้อเอชไอวี และซิฟิลิสร่วมด้วย โดยเพิ่งจะทราบภายหลังติดเชื้อฝีดาษวานรแล้ว จึงไม่เคยมีการรักษา ทำให้เม็ดเลือดขาว (CD4) เหลือน้อยเพียง 16 เซลล์ต่อมิลลิเมตร ส่งผลให้ติดเชื้อราและเชื้อฉวยโอกาสเพิ่ม
ขณะที่สถานการณ์โรคฝีดาษวานรของจังหวัดเชียงใหม่ ณ วันที่ 21 ส.ค. 66 พบผู้ป่วยยืนยันแล้ว 2 ราย โดยรายแรกเป็นชายรักชาย อายุ 31 ปี ติดเชื้อจากต่างประเทศ เนื่องจากเคยมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับชายแปลกหน้าที่ประเทศไต้หวัน แต่ขณะนี้ตุ่มบริเวณผิวหนังหายทั้งหมดแล้ว และไม่สามารถแพร่เชื้อได้อีก ส่วนอีกราย เป็นชายรักชาย อายุ 40 ปี ติดเชื้อจากต่างจังหวัด และมาแสดงอาการขณะเดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ ขณะนี้ได้มีการส่งตัวผู้ป่วยกลับไปกักตัวที่ภูมิลำเนาแล้ว อย่างไรก็ตาม จังหวัดเชียงใหม่ได้มีการป้องกัน สอบสวนโรค และค้นหาสถานที่เสี่ยงอย่างเข้มข้น เพื่อป้องกันการระบาดในพื้นที่ พร้อมขอให้ประชาชนเฝ้าระวังและป้องกันตนเองหากสัมผัสกลุ่มเสี่ยง หรือมีอาการไข้ มีตุ่มแดง ให้รีบเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีความพร้อมอยู่แล้ว
นอกจากนี้ หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกว่า ในขณะนี้มีผู้ป่วยเพิ่มมากเช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ ซึ่งหากภายในห้วงปลายเดือน ส.ค.นี้จำนวนผู้ป่วยในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ยังไม่ลดลง มีแนวโน้มที่จะถูกประกาศให้เป็น “พื้นที่โรคระบาดไข้เลือดออก” ทั้งนี้ อำเภอที่มีผู้ป่วยสูงสูด 5 อันดับแรก ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ แม่อาย ฝาง ไชยปราการ และแม่ริม ขณะที่อำเภอทางโซนเหนือในปีนี้พบการระบาดทุกอำเภอและมีจำนวนมาก ด้วยเป็นพื้นที่แล้งน้ำและมีการกักเก็บน้ำไว้ใช้โดยไม่มีฝาปิด จนกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ประกอบกับการระบาดส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดความรุนแรงและเสียชีวิตได้ง่าย จึงขอให้ประชาชนหมั่นกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุก 7 วัน ซึ่งเป็นวิธีการป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ดีที่สุด