ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาคดี “เตี้ย มช.”ลงโทษ ส.ต.ท.มืออุ้มผิดทารุณกรรมสัตว์และลักทรัพย์ จำคุก 16 เดือน ชดใช้ 1 แสน

เชียงใหม่ – ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาคดี “เตี้ย มช.” ชี้ ส.ต.ท.มืออุ้มสุนัขขวัญใจมหาชน นอกจากทารุณกรรมสัตว์แล้ว ยังมีความผิดลักทรัพย์ด้วย หลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยื่นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงความเป็นเจ้าของ ตัดสินลงโทษจำคุกรวม 16 เดือน ไม่รอลงอาญา และจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหาย 100,000 บาท

รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า เมื่อวานนี้ (13 ม.ค. 68) ศาลจังหวัดเชียงใหม่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 คดี “เตี้ย มช.” สุนัขพันทางขวัญใจนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่และคนรักสุนัข ที่หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. 63 ก่อนจะถูกพบเป็นซากถูกทิ้งไว้ในป่าหญ้าข้างทางในวันที่ 7 พ.ค. 63 สร้างความโศกเศร้าสะเทือนใจให้แก่แฟนคลับอย่างมาก โดยต่อมาพบหลักฐานกล้องวงจรปิดและตำรวจทำการสืบสวนสอบสวนพร้อมแจ้งข้อกล่าวหาต่อ ส.ต.ท.ปริญญา ปัญญาบุตร สังกัดหน่วยงานตำรวจแห่งหนึ่ง ซึ่งหลังสรุปสำนวนให้อัยการเป็นโจทก์ฟ้อง ส.ต.ท.ปริญญา ผู้เป็นจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะ, ทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันควร

โดยเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 66 ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีการอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ตัดสินลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลา 6 เดือนไม่รอลงอาญาในความผิดฐานทารุณกรรมสัตว์ ส่วนความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะให้ยกฟ้อง เนื่องจากไม่ปรากฏชัดในส่วนของความเป็นเจ้าของสุนัข ซึ่งทางด้านจำเลยได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ โดยขอประกันตัวออกไปในวงเงิน 150,000 บาท เพื่อต่อสู้คดี จนต่อมาทางศาลอุทธรณ์ได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 ต.ค. 67 แต่มีการเลื่อนเป็นวันนี้ (13 ม.ค. 68) เนื่องจากยังพิจารณารายละเอียดทางคดีไม่แล้วเสร็จ เพราะเป็นคดีสำคัญที่สังคมให้ความสนใจ รวมถึงมีรายละเอียดทางคดีในหลายประเด็น

ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่าศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้มีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาชั้นต้นเป็นว่า ส.ต.ท.ปริญญา ปัญญาบุตร จำเลย มีความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะฯ อีกกระทง จำคุก 1 ปี 6 เดือน แต่การนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 12 เดือน และลดโทษจำคุก 6 เดือน ฐานทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุสมควรให้หนึ่งในสามเช่นกัน คงจำคุกในความผิดนี้ 4 เดือน รวมจำคุกจำเลย 16 เดือน ไม่รอลงอาญา และให้ชดใช้เงิน 100,000 บาท แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งในประเด็นความเป็นเจ้าของนั้น ในชั้นศาลอุทธรณ์ ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ส่งหลักฐานการอาศัยอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัย พร้อมทั้งมีการให้อาหาร ฉีดวัคซีน ทำหมัน ตรวจสุขภาพประจำปีและฝังไมโครชิป เพื่อแสดงตัวเป็นเจ้าของ ทำให้ศาลพิจารณาว่า “เตี้ย มช.” มีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าของ ซึ่งนำมาสู่การพิจารณาในความผิดฐานลักทรัพย์เพิ่มเติมในที่สุด

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สำหรับการอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 นั้น เนื้อหาใจความบางส่วนมีการระบุว่า ปัญหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 โดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ว่าสุนัขชื่อ เตี้ย มช. มาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2558 โดยโจทก์ร่วม (นายสมศักดิ์ ไชยวงศ์ ผู้เสียหายที่ 1) ก็ทราบ และไม่นำสุนัขนี้กลับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มอบหมายให้ผู้เสียหายที่ 2 (นางสาววราภรณ์ อินสม ผู้เสียหายที่ 2) ซึ่งเป็นพนักงานของตนดูแลสุนัขภายในมหาวิทยาลัย ผู้เสียหายที่ 2 จึงดูแลสุนัข ชื่อเตี้ย มช. ในเรื่องอาหารและที่อยู่อาศัย จัดให้มีการฉีดวัคซีน ทำหมัน ฝังไมโครชิป ตรวจสุขภาพประจำปี พฤติการณ์เช่นนี้แสดงว่าโจทก์ร่วมได้สละกรรมสิทธิ์ในสุนัขตัวนี้ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เข้าครอบครองเป็นเจ้าของสุนัข

ส่วนผู้เสียหายที่ 2 เป็นเพียงผู้ดูแลไม่ใช่เจ้าของ ผู้เสียหายที่ 3 (มูลนิธิวอชด็อก ไทยแลนด์ ผู้เสียหายที่ 3) ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงไม่ใช่เจ้าของเช่นกัน ดังนั้นเมื่อสุนัขนี้เป็นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไป และแม้จำเลยจะเอาไปทำร้ายจนตายก็ถือว่าจำเลยเอาไปด้วยเจตนาทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะฯ ตามที่โจทก์ฟ้องอีกกระทงหนึ่ง และจำเลยต้องชดใช้ราคาสุนัขนี้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งสุนัขตัวนี้มีคุณค่าสามารถใช้ให้เป็นประโยชน์ในลักษณะต่างๆ แก่สังคมยิ่งกว่าสุนัขทั่วไป จึงเห็นควรให้จำเลยชดใช้ราคาเป็นเงิน100,000บาท

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาตัดสินลงโทษจำเลยดังกล่าวแล้วนั้น กลุ่มแฟนคลับ “เตี้ย มช.” และตัวแทนจากมูลนิธิวอชด็อกไทยแลนด์ ที่มารอติดตามการอ่านคำพิพากษาพร้อมชูป้ายเรียกร้องความเป็นธรรม ต่างแสดงความพอใจกับคำพิพากษาที่ตัดสินลงโทษจำเลย หลังจากที่ต้องาต่อสู้คดีกันมานานหลายปี โดยนางสาวทิวากร ศิริรัตน์ คณะกรรมการโครงการ Ma CMU (หมาซีเอ็มยู) เปิดเผยว่า “เตี้ย มช.” แม้จะเป็นสุนัข แต่ถือเป็นหนึ่งชีวิตที่มีค่า ดังนั้นการถูกทารุณกรรมและพรากชีวิตไปอย่างไร้ความเมตตาปรานีย่อมเป็นสิ่งที่เลวร้าย ซึ่งการต่อสู้คดีในครั้งนี้เพื่อให้เกิดเป็นบรรทัดฐานในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับสัตว์อื่นๆ ด้วย

ด้านนางสาวสบันงา นนทระ ประธานและหัวหน้าฝ่ายกฎหมาย มูลนิธิวอชด็อกไทยแลนด์ บอกว่า การต่อสู้คดีนี้เพื่อให้คดีของ เตี้ย มช.เป็นกรณีตัวอย่างในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสัตว์ เนื่องจากการทารุณกรรมสัตว์ยังคงเป็นปัญหาที่พบเห็นได้อยู่อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งคดีนี้ได้มีการส่งหลักฐานข้อเท็จจริงให้ศาลที่แสดงให้เห็นว่า เตี้ย เป็นสุนัขที่มีเจ้าของ อาศัยอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัย โดยมีการให้อาหาร ฉีดวัคซีน ทำหมัน ตรวจสุขภาพประจำปีและฝังไมโครชิปด้วย

 

 

 

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า