หนึ่งเดียวในโลก ประเพณีสลากย้อมเมืองลำพูน เริ่มแล้วอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อรักษา สืบทอดประเพณีอันดีงาม ของจังหวัดลำพูน และส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของชุมชน ขณะที่ ททท.เผยโครงการฟรีวีซ่า ส่งผลดีกับการท่องเที่ยวเมืองรอง
ที่ลานพระบรมธาตุหริภุญชัย วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร จังหวัดลำพูน ชาวลำพูน จังหวัดใกล้เคียง และนักท่องเที่ยว ต่างเดินทางมาทำบุญสลากภัตรหนึ่งเดียวในโลก หรือ ตานก๋วยสลาก ประเพณีเก่าแก่ของจังหวัดลำพูน ที่สืบทอดมานับพันปี โดยเชื่อกันว่า กุศลผลบุญที่ทำจะส่งถึงดวงวิญญาณผู้ล่วงลับ เมื่อลูกหลานถวายทานสิ่งใดสิ่งนั้นก็จะส่งถึงผู้ล่วงลับได้รับสิ่งของนั้น จึงเป็นที่นิยมทำบุญของคนชาวลำพูน ตามความเชื่อ ทำต้นสลาก ขนาดใหญ่ มีความสูงกว่า 10 เมตร หลายต้น ตั้งเรียงราย ภายในวัดพระธาตุหริภุญชัย งาน “ประเพณีสลากย้อมเมืองลำพูน หนึ่งเดียวในโลก” ประจำปี 2566 เป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ของจังหวัดลำพูน รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ที่จะสร้างรายได้ และเศรษฐกิจที่ดีสู่จังหวัดลำพูน ซึ่งปีนี้การมีการประกวดต้นสลากย้อม ความสูงไม่น้อยกว่า 12 เมตร รวมทั้งหมด 8 ต้น
ซึ่งตั้งแต่เมื่อวานนี้ เป็นวันดาสลากย้อมทำให้นักท่องเที่ยวต่างให้ความสนใจเข้าวัดทำบุญกันอย่างคราคร่ำ ส่วนวันที่ 28 กันยายน จะมีขบวนแห่สลากย้อม จากถนนอินทยงยศ สู่วัดพระธาตุหริภุญชัย และวันที่ 29 กันยายน เป็นวันถวายต้นสลากย้อม
นางสาวยุรีพรรณ แสนใจยา ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานลำปาง เปิดเผยว่าประเพณีสลากย้อมเมืองลำพูน เป็นการเริ่มต้นฤดูการท่องเที่ยวจังหวัดลำพูน ซึ่งวันนี้เป็นวันแรกรัฐบาลได้เริ่มนโยบายฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถานเป็นการชั่วคราว 5 เดือนคาดว่าจะส่งผลดีการการท่องเที่ยวจังหวัดลำพูน ซึ่งถือว่าเป็นเมืองรองที่มีพื้นที่ใกล้กับจังหวัดเชียงใหม่ และมีการท่องเที่ยวเชิงวัฒนาธรรมที่นักท่องเที่ยวจีนให้ความสนใจเป็นอย่างมากจากสถิติเมื่อปี 2562 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวจังหวัดดลำพูน 5 หมื่นคน หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายดังกล่าวคาดว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 5 พันคนและคาดว่าจะมีท่องเที่ยวทะยอยเข้ามาท่องเที่ยวจังหวัดลำพูนต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2567
สำหรับประเพณีสลากย้อมเมืองลำพูน เป็นการทำบุญประจำปีก่อนวันออกพรรษา เป็นการถวายทาน เพื่อเป็นพุทธบูชาของหญิงสาว ที่ต้องเป็นหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงาน เชื่อกันว่าการถวายสลากย้อมของหญิงสาว จะได้รับอานิสงส์ผลบุญสูงยิ่ง เทียบเท่ากับการบวชของผู้ชาย อีกทั้งลักษณะพิเศษของทานสลากย้อม คือการนำประวัติของหญิงสาวที่เป็นเจ้าภาพของงาน หรือเป็น “ผู้ทานสลากย้อม” มาแต่งเป็นคำประพันธ์ นำมาผูกเล่าทำนองโบราณ ตั้งแต่เกิด จนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ได้รับรู้ถึงประวัติและความดีงามของผู้ทานสลากย้อม ลักษณะเหมือนกับการ เรียกขวัญนาค ที่กำลังจะบวช ซึ่งตามประเพณีล้านนา จะมีการเล่าเป็นทำนองเทศน์ล้านนา บอกเล่าประวัติของผู้ที่กำลังจะบวช ให้รู้ว่าเป็นผู้ที่กำลังทำความดี สละทุกอย่าง เพื่อก้าวเข้าสู่บวรพระพุทธศาสนา ประเพณีการตานก๋วยสลาก หรือสลากย้อม เป็นประเพณีเก่าแก่โบราณที่ชาวจังหวัดลำพูนแต่ละชุมชน ยังคงยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้