รู้ทัน ลดเสี่ยง “โรคมะเร็งลำไส้”

แนวโน้มจำนวนผู้ป่วย “โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่” ที่สูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ทว่าอัตราการเสียชีวิตกลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เหตุผลสำคัญเพราะ เทคโนโลยีการตรวจคัดกรองและวิทยาการด้านการรักษาที่พัฒนาไปมาก โดยความเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะพบใกล้เคียงกันทั้งเพศหญิงและเพศชาย คือประมาณ 1 ต่อ 25 คน อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามความเสี่ยงอื่นๆ ของผู้ป่วย

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดจากติ่งเนื้อหรือ Polyp ในลำไส้ใหญ่ โดยปัจจุบันยังไม่สามารถทราบสาเหตุการเกิดได้อย่างแน่ชัด แต่สามารถแบ่งปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคได้ 2 ประเภท คือ

ปัจจัยความเสี่ยงจากตัวบุคคล ได้แก่

1. อายุ

2. ประวัติในครอบครัวและถ่ายทอดทางพันธุกรรม

3. ประวัติการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้

ปัจจัยความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อม

1. ภาวะน้ำหนักเกินและขาดการออกกำลังกาย

2. อาหาร ในอาหารบางประเภทจะมีสารก่อมะเร็งซ่อนอยู่ โดยเฉพาะอาหารแปรรูป

3. การสูบบุหรี่ พบว่า 12%ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีพฤติกรรมสูบบุหรี่

4. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับการสูบบุหรี่ จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งมากยิ่งขึ้น

รู้ทัน ลดเสี่ยง “โรคมะเร็งลำไส้”

รู้ทัน ลดเสี่ยง “โรคมะเร็งลำไส้”© สนับสนุนโดย Thansettakij

ระยะแรกของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการแสดงใดๆ แต่เมื่อการดำเนินของโรคผ่านไปและติ่งเนื้อ มีขนาดใหญ่จนกลายเป็นมะเร็งแล้ว ผู้ป่วยจึงจะเริ่มมีอาการแสดงเกิดขึ้น เช่น การขับถ่ายมีเลือดหรือมูกเลือดปน ถ่ายอุจจาระก้อนเล็กลง ท้องผูกสลับท้องเสีย แน่นท้อง ท้องโต หรือคลำเจอก้อนในท้อง

ดังนั้น หากได้รับการตรวจคัดกรองด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่และทวารหนักตั้งแต่อายุ 45 -50 ปี เมื่อมีการตรวจพบโรคตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที หรือสามารถป้องกันมะเร็งได้ถ้าตรวจเจอตั้งแต่เป็นติ่งเนื้อก่อนที่จะเป็นมะเร็ง

เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ระยะของโรค ตำแหน่งและขนาดของก้อนมะเร็ง อายุ สภาพร่างกายและโรคร่วมของผู้ป่วย โดยมี 4 วิธีหลักที่ใช้ในการรักษา ได้แก่

1. การผ่าตัด เป็นการตัดเอาลำไส้ส่วนที่เป็นรอยโรค และต่อมน้ำเหลืองออก หรือในบางกรณีหากรอยโรคอยู่ที่ลำไส้ส่วนปลายที่ติดกับทวารหนัก อาจมีความจำเป็นต้องผ่าตัดทำทวารเทียม

2. การฉายรังสี เป็นการรักษาร่วมกับการผ่าตัด โดยฉายรังสีก่อนหรือหลังผ่าตัดก็ได้ ขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้และการพิจารณาของแพทย์ ใช้ในมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลายและทวารหนัก

3. ยาเคมีบำบัด อาจให้ก่อนหรือหลังผ่าตัด ร่วมกับการฉายรังสีหรือไม่ก็ได้ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ไม่จำเป็นต้องให้ในผู้ป่วยระยะแรกเริ่ม

4. ยามุ่งเป้า (targeted therapy) ให้ร่วมกับยาเคมีบำบัด ชนิดของยาขึ้นอยู่กับการตรวจยีนจากชิ้นเนื้อ เพื่อวิเคราะห์การตอบสนองของยา (precision medicine)

การป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ดีที่สุด สามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่มาจากสภาพแวดล้อม ส่วนผู้ที่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เพื่อตรวจหาติ่งเนื้อหรือเนื้องอกที่อยู่ในลำไส้ใหญ่ที่อาจพัฒนากลายเป็นมะเร็งในอนาคตได้

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,907 วันที่ 23 – 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า