อนรอย!! ทศวรรษวัตถุดิบอาหารสัตว์ กับปัญหาหมอกควันข้ามแดน
รายงาน
วิกฤตฝุ่นควันภาคเหนือไม่ได้เกิดจากปัญหาใดปัญหาหนึ่งเพียงอย่างเดียว ดังที่ บัณรส บัวคลี่ ผู้ศึกษาปัญหานี้มายาวนาน เขียนบทความเรื่อง “ไม่ใช่แค่ข้าวโพด ผลประโยชน์ป่าคืออีกต้นเหตุสำคัญของวิกฤติฝุ่นควันเหนือ” โดยระบุถึงเพจ NGO รายหนึ่งที่พยายามชี้ว่าพื้นที่ปลูกข้าวโพดในภูมิภาคอาเซียนตอนบนนำมาซึ่งปัญหาฝุ่นควัน แต่บัณรสก็ชี้ให้เห็นว่าการปลูกข้าวโพดไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้เกิดวิกฤตฝุ่นควัน เพราะอีกสาเหตุสำคัญคือ การเผาในป่า!! โดยอ้างอิงข้อมูลรอยไหม้ (Modis Burned Area) ตั้งแต่ปี 2001 ที่ทำให้เห็นพฤติกรรมไฟไหม้ซ้ำซาก เกิดบ่อย และเป็นวงกว้างในพื้นที่ป่าจริงๆ ที่ไม่มีสภาพไร่ข้าวโพดเลย พร้อมทิ้งท้ายว่าจำเป็นต้องหาสาเหตุแรงจูงใจตามบริบทของแต่ละจุดปัญหา … นับเป็นตัวอย่างของผู้มีความตั้งใจช่วยแก้ปัญหาหมอกควันให้พี่น้องชาวเหนืออย่างแท้จริง ต่างจากเพจดังกล่าวที่พยายามสื่อสารโจมตีกลุ่มทุนเป้าหมายของตนเท่านั้น มิได้ปรารถนาที่จะแก้ปัญหาเพื่อช่วยผู้คนอย่างจริงใจ
ในส่วนของไฟป่า จำเป็นต้องหาหนทางแก้ไขและป้องกันอย่างเข้มข้นกันต่อไป ส่วนเรื่องของการนำเข้าข้าวโพดฯ คงต้องย้อนกลับไปศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ในช่วง 10 ปีก่อนจากผู้ใช้ตัวจริงเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด ซึ่งก็พบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการศึกษา ทั้งนโยบายรัฐ และสถานการณ์ในขณะนั้นๆ เริ่มตั้งแต่ข้อมูลพื้นฐานที่ว่า ปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ขาดแคลนไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศไทยนั้น ปกติจะขาดแคลนปีละ 2-4 ล้านตัน โดยในปี 2557 ขาดแคลนน้อยสุดที่ 2.15 ล้านตัน แต่ปี 2567 พบว่าขาดแคลนมากสุดถึง 4.01 ล้านตัน
ปี 2558-2559 ราคาข้าวสาลีมีแนวโน้มลดต่ำลง ในขณะที่ราคาข้าวโพดไทยปรับสูงขึ้น ทำให้มีการนำเข้าข้าวสาลีปีละกว่า 3 ล้านตัน จนเป็นที่มาของการออกมาตรการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1
ปี 2560 ที่มีการบังคับใช้มาตรการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1 ส่วน ส่งผลให้ข้าวสาลีนำเข้าได้ไม่เกิน 1.8 ล้านตัน ขณะเดียวกัน ตัวเลขการนำเข้าข้าวโพดก็เพิ่มสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความขาดแคลน โดยในปี 2562 ตัวเลขนำเข้าอยู่ที่ 0.681 ล้านตัน เพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 2561 ถึง 5 แสนตัน และปี 2563 นำเข้า 1.59 ล้านตัน เพิ่มขึ้นอีก 9 แสนตันจากปี 2562
มาดูตัวเลขต้นทุนกันบ้าง ต้นทุนนำเข้าข้าวโพดปี 62 อยู่ที่ 7.28 บาท/กก. และปี 63 ต้นทุนอยู่ที่ 6.10 บาท/กก. ลดลงไปกว่า 1 บาท แต่ราคารับซื้อข้าวโพดหน้าโรงงานปี 62 อยู่ที่ 9.15 บาท/กก. ปี 63 อยู่ที่ 8.97 บาท/กก. ลดลงไปเพียง 0.18 บาท จุดนี้เองทำให้พ่อค้าคนกลางที่เล็งเห็นถึง “ผลกำไร” จึงเร่งนำเข้าข้าวโพดมากขึ้น เพราะส่วนต่างราคานำเข้ากับราคาหน้าโรงงานในปี 2562-2563 สูงถึงถึง 1.86 บาท และ 3.28 บาทตามลำดับ
ที่เคยรับรู้กันเสมอว่า ต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ของไทยสูงกว่าประเทศอื่นๆ นั่นเป็นเพราะต้นทุนปลูกข้าวโพดของไทยค่อนข้างสูง อยู่ที่ 6-7 บาท/กก. ในขณะที่ต้นทุนข้าวโพดโลกอยู่ที่ 3 บาท/กก. รัฐบาลจึงต้องการปกป้องเกษตรกรไทยผู้ปลูกข้าวโพด จึงกำหนดโควตานำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO เรียกเก็บภาษีในโควตา 20% จำนวน 54,700 ตัน และเรียกเก็บภาษีนอกโควตาถึง 73% ทำให้ไทยไม่สามารถนำเข้าข้าวโพดจากกรอบ WTO ได้
สิ่งที่พอทำได้ จึงเหลือเพียงการนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้กรอบ AFTA ที่ไม่มีโควตาและภาษี ขณะที่ ข้าวสาลี ซึ่งเป็นวัตถุดิบทางเลือกนั้น ถูกมาตรการควบคุมการนำเข้า 3 : 1 ส่วน มากำกับ ทำให้โอกาสที่ไทยจะนำเข้าข้าวสาลีซึ่งราคาถูกกว่าข้าวโพดไทยประมาณ 0.25-1 บาท/กก.มาทดแทน ก็เป็นไปอย่างจำกัด และไม่สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้เท่าที่ควร จากมาตรการเหล่านี้จึงส่งผลให้ระดับราคาข้าวโพดไทยสูงขึ้น และแน่นอนว่าข้าวโพดนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน พลอยได้รับอานิสงส์ราคาที่สูงขึ้นตามไปด้วย
ในปี 2564 ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์หลายตัวปรับสูงขึ้น จากการฟื้นตัวจากโควิดของจีน และในปี 2565-2566 สงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ราคาวัตถุดิบทุกตัวปรับสูงขึ้นอีก ประกอบกับ เมียนมา เข้าสู่ระบบส่งออกข้าวโพดเต็มตัว มีการเสียค่าธรรมเนียมส่งออก เรียกเก็บเงินสกุล USD และเรียนรู้ที่จะปรับฐานราคาขายอ้างอิงตามราคาข้าวโพดไทย ส่งผลให้ราคาข้าวโพดนำเข้าในปี 65 สูงถึง 10.58 บาท/กก. และปี 66 สูงถึง 11.84 บาท/กก. ในขณะที่ราคาข้าวโพดหน้าโรงงานอยู่ที่ 12.34 บาท/กก. และ 12.07 บาท/กก. ตามลำดับ จากสถานการณ์นี้จะเห็นว่า ส่วนต่างกำไรจากการนำเข้าเริ่มลดน้อยลง และมีการเปลี่ยนรูปแบบการนำเข้ามาทางเรือทดแทนทางบก เนื่องจากปัญหาการสู้รบของชนกลุ่มน้อยตามบริเวณชายแดน
สำหรับราคาข้าวสาลีในปี 2565-2566 มีการปรับตัวสูงขึ้นมาก จากภาวะสงครามในประเทศผู้ผลิตหลักอย่างยูเครน โดยในปี 2565 ราคาสูงขึ้นไปอยู่ที่ 15 บาท/กก. ทำให้ปีนั้นมีการนำเข้าเพียง 3 แสนตัน ในช่วงที่ราคาอยู่ที่ประมาณ 13 บาท/กก.
ปี 2566 เป็นปีที่ราคาวัตถุดิบพุ่งขึ้นสู่จุดสูงที่สุดในรอบ 40 ปี ส่งผลให้ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ประกาศผลประกอบการขาดทุนกันถ้วนหน้า มีโรงงานปิดกิจการไป 1 แห่ง และเสนอขายกิจการอีก 2-3 แห่ง ตลอดจนมีการลดกำลังการผลิตและลดจำนวนพนักงานลง
ในปีปัจจุบัน 2567 ราคาวัตถุดิบมีแนวโน้มอ่อนตัวลง 10-15% จากปี 2566 แต่ยังไม่กลับไปสู่จุดต้นทุนปกติดังเช่น ปี 2563 ซึ่งเป็นปีก่อนจีนฟื้นจากโควิด และก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาข้าวสาลีเริ่มปรับลดลงมาตามลำดับ จนกระทั่ง ก.พ. 2567 ราคาอยู่ที่ 9.93 บาท/กก. ส่วนข้าวโพดไทยยังทรงตัวที่ไม่ต่ำกว่า 10 บาท/กก. ในขณะที่เวียดนามใช้ข้าวโพดจากอเมริกา 8.0-8.5 บาท/กก.
จากสถานการณ์ทั้งหมดที่ไล่เรียงมา จะเห็นว่ามาตรการรัฐบีบรัดไม่ให้มีทางเลือกในการใช้หรือนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์มากนัก ขณะที่ “การห้ามนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านที่ผ่านการเผาตอซังและที่ส่งผลให้เกิดหมอกควันข้ามแดนและ PM 2.5” นั้น สอดคล้องกับแนวทางของผู้ประกอบการในประเทศไทยที่สนับสนุนการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสุขภาพของคนไทยอยู่แล้ว แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่าจะส่งผลกระทบต่อปริมาณข้าวโพด ขาดแคลนมากขึ้น
ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในห่วงโซ่การผลิตอาหาร พร้อมๆ กับช่วยลดปัญหาด้านฝุ่นควัน หากรัฐจะดำเนินมาตรการใดๆ ออกมาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำควบคู่ไปกับการเปิดเสรีนำเข้าวัตถุดิบอื่นทดแทน เช่น การยกเลิกมาตรการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1 ส่วน หรือยกเลิกโควตานำเข้าข้าวโพดในกรอบ WTO โดยลดภาษีนำเข้าเป็น 0 เพื่อให้สามารถจัดหาวัตถุดิบที่ขาดแคลนจากแหล่งอื่นที่ไม่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 หรือหมอกควันข้ามแดนมายังประเทศไทยได้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์และภาคปศุสัตว์ลง ได้ประโยชน์ทั้งเชิงสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม หากจะใช้มาตรการดังกล่าว ประเทศไทยต้องมีมาตรการจัดการไม่ให้เกิดฝุ่นควันจากการเผาแปลงเกษตรในประเทศของเราด้วย ต้องพิจารณาว่า…ถ้ามุ่งแต่จะดูแลให้ราคาข้าวโพดไทยสูงเกินกว่าตลาดโลกเช่นนี้ต่อไป นอกจากจะส่งผลกระทบให้ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์และปศุสัตว์สูงแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการขยายพื้นที่ปลูก โดยการรุกป่าและเผาตอซังมากขึ้น สวนทางกับ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ที่รัฐกำลังเร่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้หรือไม่
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์