ดาวเคราะห์ดวงนี้มีชื่อว่า LP 791-18 d อยู่ห่างจากโลกราว 90 ปีแสง ในกลุ่มดาวถ้วย โดยโคจรรอบดาวแคระแดงขนาดเล็กดวงหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์พบดาวเคราะห์ดวงนี้โดยอาศัยข้อมูลจากดาวเทียมเทสส์ (TESS) ขององค์การนาซา, กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitzer) ที่ปลดระวางไปแล้ว และกล้องโทรทรรศน์อีกหลายตัวบนโลก โดยเชื่อว่า ดาวเคราะห์ LP 791-18 d น่าจะเต็มไปด้วยภูเขาไฟ
ซึ่งอาจมีการปะทุด้วยความถี่พอๆ กับดวงจันทร์ไอโอของดาวพฤหัส ซึ่งเป็นที่ที่มีภูเขาไฟที่ยังไม่ดับอยู่มากที่สุดในระบบสุริยะ
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานที่สังเกตได้โดยตรงถึงกิจกรรมภูเขาไฟของดาวเคราะห์ดวงนี้ แต่เป็นการอนุมานจากการปฏิสัมพันธ์ทางแรงโน้มถ่วงที่สูงกับหนึ่งในดาวเคราะห์อีกสองดวงที่โคจรรอบดาวแคระแดงเดียวกัน โดยแรงดึงดูดจากดาวเคราะห์อีกดวงซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าอาจบีบเค้นดาวเคราะห์ที่ค้นพบใหม่นี้ ทำให้ภายในของดาวร้อน และเกิดการปะทุของภูเขาไฟบนพื้นผิว
นอกจากนี้ ยังพบว่า ดาวเคราะห์ LP 791-18 d ไม่มีการหมุนรอบตัวเอง หมายความว่าด้านหนึ่งจะสว่างตลอด ขณะที่อีกด้านจะอยู่ในความมืดตลอด โดยบริเวณที่น่าสนใจที่สุดคือบริเวณที่เรียกว่า “จุดบรรจบ (Terminator Region)” ซึ่งเป็นรอยต่อของกลางวันและกลางคืน เนื่องจากบริเวณนี้ ธารน้ำแข็งจากฝั่งที่อยู่ในความมืดอาจละลายและกลายเป็นน้ำบนผิวดาวได้ นอกจากนี้ มีโอกาสที่การปะทุของภูเขาไฟจะเกิดขึ้นทั่วทั้งดาว แม้แต่ใต้น้ำแข็งในด้านอยู่ในความมืด รวมถึงใต้น้ำใกล้กับ “จุดบรรจบ” ด้วย
ขณะเดียวกัน อุณหภูมิของดาวเคราะห์ LP 791-18 d น่าจะอุ่นกว่าโลกเล็กน้อย เนื่องจากตำแหน่งของดาวอยู่บนขอบด้านในของโซนโกลดีล็อกส์ หรือโซนที่เอื้อการอยู่อาศัย รอบดาวฤกษ์ ซึ่งไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป และดำรงน้ำในสถานะของเหลวบนพื้นผิว และสามารถมีสิ่งมีชีวิตได้
การค้นพบนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร “เนเจอร์ (Nature)” เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (17 พ.ค.)
ข่าวโดย pptvhd36