“เจิ้งเหอ” มีประวัติความเป็นมาโดยละเอียดอย่างไร คนจำนวนหนึ่งอาจไม่สนใจหรือไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องไกลตัว แต่รู้คร่าวๆ ว่า เจิ้งเหอเป็นขันทีและขุนนางคนสำคัญสมัยราชวงศ์หมิง ที่คุมกองเรือมหาสมบัติของจีนออกสำรวจโลกหลายครั้ง หลายคนอาจตั้งคำถามว่า “ขันที” จะมีทายาทได้อย่างไร นั่นเป็นเพราะพี่ชายของเจิ้งเหอได้ยกบุตรธิดาให้เป็นบุตรของเจิ้งเหอ
ส่วน “ขุนชวงเลียงฦาเกียรติ” คหบดีเมืองเชียงใหม่ เป็นทายาทของเจิ้งเหอจริงหรือไม่ นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนตุลาคม 2548 มี 2 บทความที่อธิบายถึงเรื่องนี้
หนึ่งคือ “ขุนชวงเลียงฦาเกียรติ : ทายาทเจิ้งเหอ 100 ปี คาราวานม้าต่างสู่เชียงใหม่” เขียนโดย จีริจันทร์ วงศ์ลือเกียรติ ประทีปะเสน (ซึ่งเป็นเหลนของขุนชวงเลียงฦาเกียรติ) ได้เขียนถึงชีวประวัติขุนชวงเลียงฦาเกียรติ ไว้ว่า
ขุนชวงเลียงฦาเกียรติ (พ.ศ. 2416-?) เป็นชาวจีนเกิดในมณฑลยูนนาน นับถือศาสนาอิสลาม มีชื่อจีน “เจิ้งชงหลิ่ง” [郑崇林 ในภาษาจีนกลางอ่านว่า เจิ้งฉงหลิน] แต่ พ.ศ. 2448 เจิ้งชงหลิ่งอายุได้ 32 ปี คุมคาราวานม้าต่าง 100 ตัวจากยูนนานผ่านสิบสองปันนา เชียงตุง เข้าสู่ภาคเหนือของไทย แล้วเดินทางต่อมาที่เชียงใหม่ ในช่วงแรกได้พักอาศัยอยู่กับน้าเขยชื่อ “เลานะหลวง” ซึ่งเป็นผู้แนะนำและช่วยเหลือเจิ่งชงหลิ่งในเรื่องของสินค้าและการค้าระหว่างเชียงใหม่
การเดินทางไประหว่างเมืองต่างๆ ทำให้เจิ้งชงหลิ่งได้พบรักกับ “นพ” สาวเมืองระแหง (จังหวัดตากปัจจุบัน) พ.ศ. 2450 ทั้งสองได้สมรส ภายหลังได้ย้ายมาสร้างครอบครัวกันที่เมืองเชียงใหม่ บุตรธิดาของเจิ้งชงหลิ่งกับนพ ใช้นามสกุล “วงศ์ลือเกียรติ” (นามสกุลที่เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงองค์ที่ 9 ของเชียงใหม่ประทาน) หากเจิ้งชงหลิ่งยังมีภรรยาคนแรกเป็นชาวจีน ที่ภายหลังเขาได้รับมาอยู่ด้วยกันที่เมืองไทย บุตรสาว 2 คนที่เกิดจากภรรยาชาวจีน ใช้นามสกุลว่า “เจนตระกูล” (แปลงแซ่เจิ้ง) เจิ้งชงหลิ่งค้าขายอยู่ในไทยจนมีฐานะเป็นปึกแผ่น และได้ลงหลักปักฐานอยู่เชียงใหม่
ส่วนบรรดาศักดิ์ “ขุนชวงเลียงฦาเกียรติ” นั้นรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นบำเหน็จความดีที่เจิ้งชงหลิ่ง ที่ถวายที่ดิน 100 ไร่ ให้ทางการใช้สร้างสนามบินเชียงใหม่
จีริจันทร์ วงศ์ลือเกียรติ ประทีปะเสน เล่าว่า ระหว่างรวบรวมข้อมูลทั้งจากคำบอกเล่าของผู้ใหญ่ในครอบครัว และภาพถ่ายของเจิ้งชงหลิ่ง อย่างจริงจัง เพื่อเขียนหนังสือเกี่ยวกับเจิ้งชงหลิ่งชื่อ “ขุนชวงเลียงฦาเกียรติ : ทายาทเจิ้งเหอ 100 ปีคาราวารม้าต่างสู่เชียงใหม่” จีริจันทร์ทราบว่าบรรพบุรุษแซ่เจิ้ง เป็นชาวจีนมุสลิมเหมือนเจิ้งเหอ แต่เธอไม่เคย “ฟังธง” ว่าเจิ้งชงหลิ่งทวดของเธอจะเป็นทายาทของเจิ้งเหอแม่ทัพผู้คุมกองเรือมหาสมบัติของจีน
จนกระทั่งได้หนังสือ 2 เล่มของสำนักพิมพ์มติชน คือ “เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที ‘ซำปอกง’” และ “600 ปีสมุทรยาตราเจิ้งเหอ แม่ทัพเรือผู้กลายเป็นเทพเจ้า ‘ซำปอกง’ อันศักดิ์สิทธิ์” เขียนโดยปริวัฒน์ จันทร ที่มีผู้ให้ข้อมูลท่านหนึ่ง (ศ.นพ. วิญญู มิตรานันท์) เป็นเหลนของเจิ้งชงหลิ่ง ที่เกิดกับภรรยาชาวจีน และมีภาพถ่ายเจิ้งชงหลิ่งกับนางนพภรรยาชาวไทยและลูกทั้ง 10 คน จีริจันทร์จึงติดต่อผ่านสำนักพิมพ์มติชน และได้พูดคุยกับปริวัฒน์ จันทร
ประกอบกับมีนักวิชาการชาวมาเลเซียติดต่อขอข้อมูลของเจิ้งชงหลิ่ง เพื่อนำไปเสนอในการสัมมนาวิชาการเรื่อง “Maritime Asia and the Chinese Overseas (ค.ศ. 1405-2005) ในวาระครบรอบ 600 ปีสมุทรนาตราเจิ้งเหอ ที่ประเทศสิงคโปร์ ฯลฯ
ทั้งหมดนั่นทำให้จีริจันทร์ ประจักษ์ว่าเจิ้งเหอ บรรพชนต้นตระกูล เป็นคนเดียวกับเจิ้งเหอนักเดินเรือคนสำคัญของโลก
อีกหนึ่งบทความคือ “ไขความปริศนา ‘ขุนชวงเลียงฦาเกียรติ’ คือทายาทรุ่นใดของเจิ้งเหอ” โดยปริวัฒน์ จันทร ผู้เขียนบทความนี้เสนอข้อมูลเกี่ยวกับเจิ้งเหอ 2 ส่วน คือ
1. สาแหรกทายาทเจิ้งเหอ ที่เป็นส่วนหนึ่งในหนังสือ “มหากาพย์เจิ้งเหอ” ที่จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2548 เนื่องในวาระครบรอบ 600 ปี แห่งสมุทรยาตราเจิ้งเหอ สาแหรกดังกล่าวแบ่งเป็น 3 สาย คือ
1) สายเดิมที่บ้านเกิดเจิ้งเหอที่เมืองคุนหยาง ในรุ่นที่ 15 มีผู้นำรุ่นชื่อ เจิ้งหย่งเซิง ซึ่งเป็นพี่ชายของเจิ้งฉงหลิน (ที่ลูกหลานเมืองไทยเรียกว่า “เจิ้งชงหลิ่ง”) หรือขุนชวงเลียงฦาเกียรติ ก็อยู่ในรุ่นนี้ด้วย 2) สายที่แยกไปตั้งรกรากที่นครหนานจิง 3) สายของเจิ้งฉงหลินที่อพยพมาตั้งรกรากที่เชียงใหม่ ซึ่งมีการส่งจดหมายไปมาหาสู่ระหว่างกัน
2. ข้อมูลจากจดหมายของเจิ้งหยุนเหลียง จากเมืองอวี้ซี มณฑลหยุนหนาน ถึงพวงเพ็ชร วงศ์ลือเกียรติ บุตรคนสุดท้องของเจิ้งหย่งหลิ่งกับนางนพ จดหมายดังกล่าวลงวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2546 สรุปใจความได้ว่า
เจิ้งหยุนเหลียงเป็นทายาทรุ่นที่ 18 ของเจิ้งเหอ มีทวดชื่อ เจิ้งหยางเซิง (พี่ชายของเจิ้งฉงหลิน) ทราบว่าคุณพวงเพ็ชรกับพี่ชายเคยเดินทางไปเยี่ยมญาติที่เมืองอวี้ซี, คุนหยาง และทงไห่ เมื่อ พ.ศ. 2538 (แต่เขาไม่มีโอกาสได้พบเพราะติดงานอยู่ต่างเมือง) จากนักหนังสือพิมพ์จีนที่เคยมาสัมภาษณ์คุณพวงเพ็ชรที่เมืองไทยภายหลัง โดยเขาพบนักหนังสือพิมพ์คนดังกล่าวในปี พ.ศ. 2545 เจิ้งหยุนเหลียงเล่าว่าพ่อของเขาเคยเล่าเรื่องของเจิ้งฉงหลินให้ฟังเสมอ และยังมีภาพครอบครัวที่ทางเมืองไทยส่งไปให้เก็บรักษาไว้ นอกจากนี้ลุงของพ่อเขาก็เคยเดินทางไปมาติดต่อการค้ากับเจิ้งฉงหลินที่เมืองไทย 2 ครั้ง
ขณะนี้ (พ.ศ. 2546) ทายาทของเจิ้งเหอที่อวี้ซี, คุนหยาง และทงไห่ ฯลฯ กำลังชำระปูมสาแหลกทายาทเจิ้งเหอ ตลอดจนรวบรวมชีวประวัติทายาทคนสำคัญในแต่ละรุ่น จึงขอให้ญาติทางเชียงใหม่ช่วยส่งรูปถ่ายเจิ้งฉงหลินกับภรรยา, บุตร, หลานๆ แต่ละรุ่นพร้อมเขียนชื่อสุกล และหน้าที่การงานส่งมาให้เขา เพื่อจัดพิมพ์ในปูมสาแหรกทายาทเจิ้งเหอฉบับสมบูรณ์เล่มใหม่
จดหมายดังกล่าวถูกเก็บไว้ที่บ้านของเจิ้งฉงหลิน หรือเจิ้งชงหลิ่ง ที่เชียงใหม่ โดยไม่มีใครอ่าน (เพราะเขียนเป็นลายมือภาษาจีน) จึงไม่มีการส่งข้อมูลใดๆ กลับไป จนกระทั่งจีริจันทร์ ส่งสำเนาให้ผู้เขียน (ปริวัฒน์ จันทร) อ่าน จึงยืนยันให้หนักแน่นยิ่งขึ้นว่า
“เจิ้งฉงหลิน” หรือ “เจิ้งชงหลิ่ง” ที่ได้บรรดาศักดิ์เป็น “ขุนชวงเลียงฦาเกียรติ” เป็นทายาทรุ่นที่ 15 ของเจิ้งเหอ แห่งหมู่บ้านตงอิ๋ง ตำบลเป่ยเฉิง เมืองอวี้ซี มณฑลหยุนหนาน (หรือยูนนาน) ประเทศจีน