ทีมงานทหารของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญทั้งทางด้านธรณีวิทยา จนท.สถานทูตสหรัฐฯ แพทย์ และชาวบ้านในพื้นที่ เกือบ 50 คน ยังคงเดินหน้าสแกนพื้นที่ดอยกุลัว หรือ ดอยฝรั่ง ม่อนพระยาแช่ เขตพื้นที่บ้านทรายใต้ ต.พิชัย อ.เมืองลำปาง ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต ตลอดร่วม 1 เดือนที่ผ่านมา
ค้นหาอัฐิของนักบินสหรัฐฯ คือ ร.ท. Henry Francis Minco เสียชีวิตจากการสู้รบสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากถูกฝ่ายอักษะ (ไทย) โดย ร.ท.คำรบ เปล่งขำ ยิงเครื่องบินพี 51 มัสแตง P-51 Mustang ของอเมริกาตกจากน่านฟ้าจังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2487 ซึ่งก็จะครบ 80 ปีในปีนี้
ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้ถูกบันทึกไว้ในหนังสือของสื่อมวลชนอาวุโสของลำปาง ส่วนพิกัดที่เครื่องบินตกนั้นไม่ได้มีการเปิดเผยมากว่า 70 ปี
กระทั่งในปี 2562 คณะของ Mr. แดเนียล แจ็คสัน ทหารอากาศอเมริกัน ผู้ศึกษาการสาบสูญของเสืออากาศในจีน Mr. แฮคแฮคแคนสัน ชายชาวอเมริกันที่ย้ายมาอยู่ประเทศไทยเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์สงครามโลก และ พล.อ.อ.ศักดิ์พินิต พร้อมเทพ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ กองทัพอากาศ ได้เข้ามายืนยันพิกัดจุดที่เครื่องบินตกโดยการนำทางของชาวบ้านในพื้นที่
จากนั้นในห้วงปี 2564 คณะเจ้าหน้าที่ได้ไปพบกับคณะของชาวอเมริกันประมาณ 5 คน บริเวณบ้านทรายใต้ ม.8 ต.พิชัย อ.เมืองลำปาง นำโดยพันตรีหญิง ใกล้รุ่ง ปัททุมมา แห่งกองทัพสหรัฐอเมริกาเข้ามาตรวจสอบว่ายืนยันพิกัดที่เครื่องบิน P-51 Mustang สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกยิงตก และตรวจสอบพื้นที่เบื้องต้นเพื่อวางแผนในการค้นหาและนำกลับมาตุภูมิ ซึ่งคณะดังกล่าวได้หลักฐานที่เป็นเชิงประจักษ์หลายชิ้น เช่น ซิปที่ติดชุดนักบิน ชิ้นส่วนของเครื่องบินหลายชิ้น
เดือนกุมภาพันธ์ 2566 คณะของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (Defense POW/MIA Accounting Agency (DPAA) ได้เข้ามาในพื้นที่อีกครั้ง โดยครั้งนี้เป็นการสำรวจอย่างละเอียดเพื่อวางแผนในการค้นหา และในเดือนพฤศจิกายน 2566 ตัวแทนของ DPAA พร้อมเจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกาก็ได้เข้ามาสำรวจเส้นทางเข้าสู่พื้นที่ค้นหาในเส้นทางใหม่ เพื่อสะดวกในการเข้าทำงาน
ล่าสุดคณะของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (Defense POW/MIA Accounting Agency (DPAA) ได้เข้ามาดำเนินการค้นหาตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงทำงานอยู่ในพื้นที่ทุกวัน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการจนถึงวันที่ 8 มีนาคม 2567 และวันที่ 15 ก.พ.ที่จะถึงนี้คณะสถานทูตสหรัฐอเมริกาและส่วนที่เกี่ยวข้องจะได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมและดูความคืบหน้าในการค้นหานี้ด้วย
ทั้งนี้ ในพื้นที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพตได้มีการจัดเจ้าหน้าที่คอยรักษาความปลอดภัยตั้งแต่ปากทางเข้าพื้นที่ จุดพักเพื่อเก็บเสบียงสิ่งของสัมภาระที่ใช้ในการทำงานสำรอง รวมถึงจุดพักรถทีมงานกลางภูเขาระหว่างเส้นทางที่จะไปถึงจุดทำงาน และบนพื้นที่ค้นหาตลอด 24 ชั่วโมง