น.ส.มินทิรา ภดาประสงค์ นายอำเภอดอยหลวง จ.เชียงราย มอบหมายให้นางประนอม กิจเจริญ ปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียนและบัตร จัดประชุมรับความคิดฟังของประชาชน กรณีบริษัทเอกชนนำถ่านหินลิกไนต์จากนอกพื้นที่ไปวางกองไว้ในหมู่บ้านห่างจากบ้านเรือนของประชาชนไม่มากนัก จนสร้างผลกระทบเรื่องกลิ่นและเกรงว่าจะมีฝุ่นและเกิดมลพิษในแหล่งน้ำในอนาคต ที่หอประชุมหมู่บ้นปงน้อยใต้ หมู่ 10 ต.ปงน้อย อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย เมื่อ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยมีหน่วยงานต่างๆ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ปงน้อย สาธารณสุข อ.ดอยหลวง ฯลฯ เข้าร่วม
ตัวแทนชาวบ้านระบุว่าผู้ประกอบการจะขนถ่านหินลิกไนต์ไปเข้าในลานเก็บตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงเย็นและบางวันถึงช่วงค่ำ ทำให้มีกลิ่นเหม็นและชาวบ้านบางรายที่อยู่ใกล้ทนไม่ไหว้ต้องย้ายไปนอนที่บ้านญาติ ในอนาคตเกรงจะส่งผลกระทบหนักโดยเฉพาะต่อลำน้ำแม่บงที่ไหลผ่าน อ.ดอยหลวง เพราะมีลำห้วยสาขาใกล้กับลานเก็บถ่านหินด้วย
ซึ่งหลังจากรับฟังความเห็นแล้วทางปลัดอำเภอได้รับปากจะนำเอาข้อเสนอไปรายงานต่อนายอำเภอดอยหลวง เพื่อแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ขณะที่ชาวบ้านต่างแสดงทีท่าร้อนใจเพราะไม่มีการแก้ไขปัญหาให้โดยเร็ว
นายเซ็นต์ กิตติยางกูล ข้าราชครูบำนาญชาว อ.ดอยหลวง กล่าวว่าก่อนที่ผู้ประกอบการจะขนถ่านหินลิกไนต์มาเก็บในพื้นที่ไม่ได้มีการทำประชาคมขอความเห็นจากชาวบ้าน จนเกิดความเดือดร้อนทั้งเรื่องกลิ่นเหม็น และเกรงว่าปลาในลำน้ำแม่บงจะตายจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำประชามติเพราะเราไม่อาจรับผลกระทบเหมือนกับที่เกิดที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ได้อย่างแน่นอน
นายวชิรพงศ์ ไชยลังกา ผู้ใหญ่บ้านแม่บงใต้ หมู่ 5 ต.โชคชัย กล่าวว่าหมู่บ้านของตนอยู่ห่างออกไปประมาณ 200 เมตร ชาวบ้านบอกว่าได้กลิ่นเช่นกันและเมื่อฝนตกน้ำจากบริเวณดังกล่าวจะไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ จึงเกรงว่าจะเกิดผลกระทบกับชาวบ้านเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 4 หมู่บ้านได้แก่ ต.โชคชัย 1 หมู่บ้าน ส่วน ต.ปงน้อย มีจำนวน 3 หมู่บ้าน ซึ่งจากการหารือกันก็ล้วนต้องการให้มีการจัดทำประชามติ
ด้านตัวแทนบริษัทเอกชนที่นำถ่านหินลิกไนต์ไปเก็บไว้ที่หมู่บ้านดังกล่าวระบุว่าได้นำเข้าถ่านหินลิกไนต์จาก สปป.ลาว ข้ามแม่น้ำโขงเข้ามายังฝั่งไทยเพื่อนำไปส่งที่โรงงานอุตสาหกรรมในเขตภาคกลาง ซึ่งเดิมมีสถานที่เก็บถ่านหินที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ติดกับแม่น้ำโขงอยู่แล้วแต่สัญญาเช่าที่หมดจึงได้ย้ายมาที่ อ.ดอยหลวง ได้ประมาณ 3 เดือน ที่ผ่านมายืนยันว่าได้ขออนุญาตและทำตามกฎหมายทุกอย่าง รวมทั้งมีระบบป้องกันฝุ่นและโลหะหนัก มีการสร้างบ่อพักและระบบบำบัดน้ำเสียไม่ให้น้ำไหลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ อย่างไรก็ตามอาจต้องยุติกิจการที่ อ.ดอยหลวง ด้วยเหตุผลที่ว่าคนในพื้นที่คัดค้านเป็นจำนวนมากดังกล่าว.
โดย: ผู้จัดการออนไลน์