จากปังชา-ใบมีด! ทั้งชาวไร่-พ่อค้าแม่ขายสับปะรดนางแล โดนฟ้องละเมิดสิทธิบัตร จนผวากันทั่ว

ชียงราย – ทั้งชาวไร่-พ่อค้าแม่ขายสับปะรดนางแล ริมทางข้างถนนเชียงราย วิตกกังวลกันทั่ว..หลังเกษตรกรบ้านดู่โดนคนยะลาอ้างสิทธิ์ยื่นฟ้องฐานละเมิด “มีดเลาะตาสับปะรด” ขณะที่คนคิดค้นดัดแปลง-ที่ปรึกษาเปิดใจยันทำเองกับมือตั้งแต่ปี 53-เคยขอจดสิทธิบัตร จนท.บอกคนทั่วไปน่าจะใช้ได้ สุดท้ายยังมีคนฟ้อง

ขณะนี้เกษตรกรชาวไร่สับปะรด ตลอดจนพ่อค้าแม่ขายสับปะรดริมทางพื้นที่ ต.บ้านดู่ และ ต.นางแล อ.เมืองเชียงราย ซึ่งต่างใช้ “ใบมีดมีด้าม” เลาะตา-ปอกสับปะรด ส่งขายพ่อค้าหรือนำไปตั้งโต๊ะกางเต็นท์จำหน่ายให้นักท่องเที่ยวตามเส้นทางสายเชียงราย-แม่จัน ต่างวิตกกังวลกันทั่วหน้า

หลังจากมีเอกชนรายหนึ่งจาก จ.ยะลา ได้ยื่นฟ้องร้องต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (บก.ปอศ.) กล่าวหาหนึ่งในเกษตรกรชาวหมู่ 7 ต.บ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย ที่ใช้มีดเลาะตาสับปะรดดังกล่าว ฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นทั้งด้วยการขายและมีไว้โดยไม่ได้รับอนุญาต

นายเรวัฒน์ เรือนสังข์ อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 138 ม.7 ต.บ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย เกษตรกรชาวไร่สับปะรดผู้คิดค้นมีดปอก และ ร.ต.อ.ไพชนยนต์ ดอนลาว ที่ช่วยปรึกษาคิดค้น ต่างบอกตรงกันว่าเมื่อปี 2553 เห็นปัญหาการปอกสับปะรดที่ต้องใช้เวลานาน แม้แต่ชาวบ้านที่มีฝีมือ-ยึดอาชีพทำไร่-ขายสับปะรดเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ยังปอกได้เพียงวันละประมาณ 40 กิโลกรัม จึงปรึกษากันเพื่อคิดค้นมีดหรืออุปกรณ์ที่จะสามารถปอกสับปะรดให้เร็วและได้ปริมาณมากขึ้น

กระทั่งได้คิดค้นและดัดแปลงจนได้มีดกึ่งช้อนอันหนึ่ง เมื่อลองใช้ปรากฏว่าสามารถปอกสับปะรดได้มากถึงวันละ 80 กิโลกรัม จึงได้นำมาใช้และชาวบ้านหลายรายมาเห็นก็ซื้อหรือนำรูปแบบแนวทางไปดัดแปลงใช้ประโยชน์ได้เหมือนกัน ซึ่งช่วงแรกก็ไม่ได้คิดจะจดสิทธิบัตรตามกฎหมาย เพราะในปีเดียวกันได้ไปปรึกษาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ก็ได้รับคำตอบว่าน่าจะเป็นอุปกรณ์ที่ผู้คนสามารถใช้ได้ทั่วไป และหากจะจดสิทธิบัตรจริงก็จะเสียค่าใช้จ่ายมาก

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2565 เกษตรกรรายหนึ่งที่ ต.บ้านดู่ กลับถูกเอกชนรายหนึ่งที่อยู่ไกลถึง จ.ยะลา ยื่นฟ้องว่าได้ใช้บัญชีธนาคารในการรับโอนเงินจากการขายมีดเลาะตาสับปะรดดังกล่าว พร้อมส่งหนังสือเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 50,000 บาทอีกต่างหาก

อย่างไรก็ตาม นายเรวัฒน์ได้แนะนำให้เกษตรกรสู้คดีเพราะเห็นว่าพวกตนเป็นคนคิดค้นอุปกรณ์นี้ขึ้นมาเอง และพื้นที่ ต.บ้านดู่ ต.นางแล ฯลฯ เป็นแหล่งปลูกสับปะรดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยด้วย กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมาศาลชั้นต้นได้ยกฟ้อง

แต่เกษตรกรชาวไร่สับปะรดเชียงรายก็ยังคงต้องรอฟังข่าวด้วยความวิตกกังวลต่อไปว่าเอกชนจาก จ.ยะลา รายดังกล่าวจะยื่นอุทธรณ์ภายใน 60 วันอีกหรือไม่

 โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า