งดงามอลังการ! ไทลื้อ 7 จังหวัดร่วมงาน “โฮ่มฮีต โตยฮอย ร้อยใจไทลื้อ” ดัน Soft power ชาติพันธุ์สู่นานาชาติ

พะเยา – พี่น้องไทลื้อ 7 จังหวัดภาคเหนือ ยกขบวนโชว์วิถีชาติพันธุ์สุดงดงามอลังการ..ร่วมเทศกาล “โฮ่มฮีต โตยฮอย ร้อยใจไทลื้อ” ดัน Soft power พื้นถิ่นสู่ระดับชาติและนานาชาติ สร้างจุดขายการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดงานเทศกาล “โฮ่มฮีต โตยฮอย ร้อยใจไทลื้อ” ซึ่งสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพะเยา บูรณาการความร่วมมือกับชุมชนไทลื้อที่มีความพร้อม-มีศักยภาพ และหน่วยงานในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายทางวัฒนธรรม สถานศึกษา จัดขึ้นสุดสัปดาห์นี้ (15-16 ก.ค. 66) ณ วัดพระธาตุสบแวน ต.หย่วน อ.เชียงคำ จ.พะเยา

โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ณรงค์ โรจนโสทร ผู้ว่าฯ พะเยา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัด 7 จังหวัดเหนือ หัวหน้าส่วนราชการ นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการจัดงาน เครือข่ายทางวัฒนธรรม สมาคมไทลื้อ 7 จังหวัดภาคเหนือ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย-ชาวต่างชาติ ร่วมงานและเที่ยวชมกันอย่างมากมาย

ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมกล่าวว่า งานเทศกาลไทลื้อ “โฮ่มฮีต โตยฮอย ร้อยใจไทลื้อ” เป็นการยกระดับเทศกาลงานประเพณี Soft Power ท้องถิ่นไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ สืบสาน-รักษา-ต่อยอดวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ 7 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย น่าน แพร่ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน พะเยา ไปสู่การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้หมุนเวียนในพื้นที่ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดพะเยา

กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย ขบวนแห่ทางศิลปวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ 7 จังหวัดภาคเหนือ ขบวนแห่ของหน่วยงานราชการ สถานศึกษา การสาธิตการแห่ครัวตานเข้าวัด การสาธิตประเพณีตานธรรม นิทรรศการมีชีวิต “วิถีวัฒนธรรมไทลื้อ” นิทรรศการผ้าลายดอกสารภี ผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดพะเยา ผ้าทอชาติพันธุ์ไทลื้อภาคเหนือ การสาธิตทำอาหารไทลื้อ การจำหน่ายอาหาร ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม CPOT และ CCPOT การแสดงศิลปวัฒนธรรม การเดินแบบการแต่งกายชุดชาติพันธุ์ และชุดผ้าทอลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัดในภาคเหนือ

ว่าที่ร้อยตรี ณรงค์ โรจนโสทร ผู้ว่าฯพะเยา กล่าวว่า ชาวไทลื้อส่วนใหญ่มีบรรพบุรุษที่เคลื่อนย้ายถิ่นฐานมาจากสิบสองปันนา ปัจจุบันอยู่ตอนใต้สุดของมณฑลยูนนาน ประเทศจีน และบางกลุ่มเคลื่อนย้ายมาจากอาณาจักรหอคำ เชียงแขง ปัจจุบันอยู่ในเขตแขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว ส่วนจังหวัดพะเยา มีชาติพันธุ์ไทลื้อตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ 4 อำเภอ คือ เชียงคำ เชียงม่วน ภูซาง และอำเภอจุน

โดยอำเภอเชียงคำ เป็นอำเภอที่มีชาวไทลื้อมากที่สุดในประเทศไทย ประมาณ 17,000 คน ได้รับการขนานนามว่า “เชียงคำ” เป็นเมืองหลวงของชาวไทลื้อในประเทศไทย แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่โดดเด่นของจังหวัดพะเยา คือ ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทลื้อเชียงคำ เป็นการรวมตัวของชาวไทลื้อ 5 หมู่บ้าน ที่มีวิถีชีวิต-การแต่งกาย ที่เป็นเอกลักษณ์ มีการสื่อสารด้วยภาษาไทลื้อ มีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและความเชื่อ มีเส้นทางท่องเที่ยวในชุมชนไทลื้อเชื่อมโยงกัน 5 หมู่บ้าน มีแหล่งเรียนรู้ เช่น เฮือนไตลื้อบ้านแม่แสงดา ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อวัดหย่วน ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดแสนเมืองมา เฮือนไตลื้อเมืองมาง มีกิจกรรมตลาดวัฒนธรรม และสถานที่อื่นๆ อีกมากมาย

สำหรับการจัดเทศกาลดังกล่าว จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2537 ในชื่องานว่า “สืบสานตำนานไทลื้อ” หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า “งานไทลื้อ” เป็นงานประจำปีของอำเภอเชียงคำ จัดในวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ แรกของเดือนมีนาคมของแต่ละปี ซึ่งล้วนเต็มไปด้วยกิจกรรมที่สะท้อนถึงวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตของชาวไทลื้ออย่างมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ และมีการจัดงานมาอย่างต่อเนื่อง

โดยในปี 2566 นี้เป็นการจัดงานครั้งที่ 20 และเป็นโอกาสอันดีที่งานเทศกาลไทลื้อ “โฮ่มฮีต โตยฮอย ร้อยใจไทลื้อ” ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 16 เทศกาลประเพณีที่กระทรวงวัฒนธรรมประกาศยกระดับสู่ระดับชาติและนานาชาติ เป็นการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจด้วยวัฒนธรรม รวมทั้งผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทย เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ ตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5F โดยขับเคลื่อนงานเทศกาลประเพณี หรือ Festival สู่ระดับโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า