สามเหลี่ยมทองคำ – ครูบาดังชายแดนเชียงแสน เชื่อพระพุทธรูปใต้หาดทรายน้ำโขงฝั่งลาว เคยอยู่บนเกาะดอนแท่นในตำนาน ที่เคยมีวัดอยู่นับสิบกว่าวัด ก่อนกระแสน้ำเปลี่ยนทิศ-เซาะจม ด้านผู้ชำนาญโลหะชาวไทยโพสต์ไม่กลัวทัวร์ลงบอกอายุไม่เกิน 50 ปี
กรณี สปป.ลาว ขุดพบโบราณวัตถุ ทั้งองค์พระพุทธรูปสำริด ก่ออิฐถือปูน ฐานพระพุทธรูป อิฐ ฯลฯ จมใต้หาดทรายริมน้ำโขง บ้านดอนผึ้งคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สามเหลี่ยมทองคำ ตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.2567 เป็นต้นมา รวมจำนวนไม่น้อยกว่า 200 ชิ้น
และล่าสุดวันที่ 16 พ.ค.ยังพบพระพุทธรูปสำริดหน้าตักกว้างประมาณ 1.80 เมตร สูงกว่า 2 เมตร ซึ่งพาให้ผู้คนคิดถึงตำนานพระพุทธรูปองค์ใหญ่หรือพระเจ้าล้านตื้อในแม่น้ำโขง รวมทั้งสนใจใน “จิกโมลี” หรือ “เปลวรัศมี” ที่ค้นพบในคราวเดียวกันและมีลักษณะเหมือนที่อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน ซึ่งค้นพบก่อนปี 2466 อีกด้วยนั้น
ด้านพระใบฎีกา กษิพัฑฒิ สิริภทฺโท (ครูบาอ๊อด) รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดป่ายางสบยาบ ต.แม่เงิน อ.เชียงแสน สันนิฐานว่าบริเวณที่มีการขุดพบเคยเป็นเกาะ ซึ่งในอดีตเคยเชื่อมกับแผ่นดินฝั่ง อ.เชียงแสน และมีการจดบันทึกกันว่าชื่อ “เกาะดอนแท่น” เป็นที่ตั้งของวัดต่างๆ นับ 10 กว่าวัด
แต่ประมาณ 200 ปีก่อน กระแสแม่น้ำโขงไหลแรงและเปลี่ยนทิศทาง กัดเซาะเกาะจนจมอยู่ใต้แม่น้ำเป็นผลทำให้วัดต่างๆ จมลงไปด้วย กระทั่งในฤดูแล้งปีนี้ชาวบ้านฝั่งลาวได้นำเครื่องจักรเข้าไปขุดตักทรายเพื่อจะนำไปสร้างวัด จนมีการค้นพบครั้งใหญ่ที่สุดดังกล่าวซึ่งก็ไม่ถือเป็นเรื่องแปลก
“จากการดูศิลปะของพระพุทธรูปที่พบต่างเป็นศิลปะเชียงแสนเป็นส่วนใหญ่ และคาดว่าน่าจะมีอายุอยู่ราว 300-500 ปีก่อน ในยุคที่เมืองเชียงแสนมีความเจริญรุ่งเรืองมาก”
ขณะที่สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จ.เชียงราย ได้บันทึกคำบอกเล่าของชาวเชียงแสนในหนังสือตามรอยพระเจ้าล้านทองทิพ หรือพระเจ้าล้านตื้อ ว่าเมื่อปี 2479 เคยมีพรานหาปลาทอดแหกลางแม่น้ำโขงบริเวณหน้า สภ.เชียงแสน ในปัจจุบัน ได้เห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่อยู่กลางแมน้ำโขง ต่อมาปี 2488 ก็มีพรานปลาอีกคนพบเสาวิหาร 2-3 ต้นจมอยู่กลางแม่น้ำโขง จนกลายเป็นเรื่องเล่าขานและหน่วยงานภาครัฐเคยใช้การดำลงไปค้นหาหลายครั้งแต่ก็ไม่เคยพบเจออีกเลย
อย่างไรก็ตามล่าสุดเฟซบุ๊ก “พยุงศักดิ์ อัครเกื้อกูล” เผยแพร่ข้อมูลเมื่อวันที่ 17 พ.ค.นี้ว่าตนคืออาจารย์ต๋อง หรือ ฉายา ครูบาทอง เรียนช่างกลโรงงาน จบการศึกษาวิศวอุตสาหการ เรียนวิชาโลหะวิทยา พร้อมอ้างว่าเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ท่านหนึ่งที่แปลและแต่งตำราโลหะวิทยาคนแรกของประเทศไทย
จากนั้นระบุว่าจากการอยู่กับโลหะแทบทุกชนิดมาตั้งแต่เด็กทราบว่าโลหะผสมที่มีทองแดงเป็นโลหะหลักและมีทองเหลือง มีอลูมีนั่ม มีตะกั่ว มีดีบุก มีเงิน เป็นโลหะรองเรียกว่าบรอนซ์ แต่ถ้าทองแดง ผสม ทองคำ เรียกว่า นาก กรณีบรอนซ์เมื่อจมดินและน้ำ ไม่ถึง 100 ปี มันจะยุ่ย ผุ กร่อน ทะลุจนพรุนไปหมด ไม่เหลือเป็นองค์พระพุทธรูปสมบูรณ์แบบอย่างที่ขุดเจอ แต่ที่เห็นคืออ้างกันว่าจมอยู่ใต้แม่น้ำ 500 ปี แต่กลับไม่มีรอยใดๆ เกิดขึ้นเลย
ท้ายที่สุดครูบาทองสันนิฐานว่าพระพุทธรูปที่พบน่าจะมีอายุไม่เกิน 50 ปี พร้อมท้าทายด้วยถ้อยคำออกแนวล่อเป้า รวมทั้งยังบอกว่าอาจจะหล่อใหม่ไม่ถึง 2-3 เดือนด้วยซ้ำ ซึ่งหลังการโพสต์ได้มีผู้เข้าไปแสดงความเห็นต่างๆ อย่างกว้างขวาง