“กล้วย” นับเป็นผลไม้ที่อยู่คู่คนไทยมานาน เป็นทั้งอาหารเด็ก อาหารกลางวันนักเรียน ผลไม้ให้พลังงานนักกีฬา ของหวานของผู้ใหญ่ ไปจนถึงผลไม้นิ่มๆ เคี้ยวง่ายของผู้สูงอายุ นอกจากรสชาติอร่อยหวานหอมจนสามรถนำมารับประทานได้ทั้งแบบสดๆ และแปรรูปเป็นสารพัดขนมแล้วกล้วยยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมายอีกด้วย มีอะไรบ้าง ทางทำกินรวมมาให้แล้ว
ประโยชน์ของกล้วย ที่ดีต่อสุขภาพ
– ลดระดับคอเลสเตอรอล
เนื่องจากกล้วยเป็นผลไม้ที่มีกากใยอาหารอย่างพอเหมาะ จึงทำให้กล้วยมีส่วนช่วยในการควบคุมระดับคอเลสเตอรอลไม่ให้สูงเกินไป ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่นๆ ตามมา เช่น โรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
– ผลไม้ของคนอยากลดน้ำหนัก
กล้วย เป็นอาหารที่รับประทานแล้วอิ่มเร็ว อยู่ท้อง และให้พลังงานกับร่างกายได้เป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม กล้วยเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลและยังไม่มีรายงานวิจัยไหนยืนยันว่าช่วยลดน้ำหนักได้ จึงควรบริโภคอย่างพอเหมาะ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย
– ควบคุมระดับความดันโลหิต
สารโพแทสเซียมที่พบในกล้วยจะช่วยให้ร่างกายขับโซเดียมออกมาทางปัสสาวะได้มากขึ้น ส่งผลดีต่อระดับความดันโลหิตที่ลดลงตามไปด้วย
– ลดอาการท้องเสีย
เส้นใยอาหารที่ย่อยง่ายของกล้วย ช่วยลดอาการท้องเสียได้ เพราะกล้วยมีคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายได้ เป็นแหล่งอาหารของเหล่าจุลินทรีย์โปรไบโอติก ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดดีที่พบในลำไส้ ช่วยลดอาการท้องเสีย ที่เป็นผลข้างเคียงที่เกิดจากการรับประทานยาปฏิชีวนะบางชนิดได้ด้วย
– แก้อาการท้องอืด
คาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายได้ที่อยู่ในกล้วย ที่เป็นแหล่งอาหารชั้นดีของจุลินทรีย์โปรไบโอติกในลำไส้ นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงอาการท้องเสียแล้ว ยังรวมถึงปัญหาท้องอืดท้องเฟ้อได้อีกด้วย
– ดีต่อสุขภาพคนโลหิตจาง
กล้วย มีธาตุเหล็กที่ดีต่อสุขภาพของคนที่มีอาการโลหิตจาง เพราะการเพิ่มธาตุเหล็กในร่างกายจะช่วยเพิ่มการสร้างเม็ดเลือดแดงได้ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่ากล้วยจะช่วยรักษาโรคโลหิตจางได้แต่อย่างใด
นอกจากกล้วยจะมีประโยชน์มากมายแล้ว หากทานกล้วยมากเกินไปก็มีโทษได้เช่นกัน ฉะนั้นเรามีข้อมูลเกี่ยวกับข้อควรระวังในการกินกล้วย ดังนี้
ข้อควรระวังในการกินกล้วย
กล้วย เป็นผลไม้ที่ให้พลังงาน เพราะมีน้ำตาลที่ร่างกายสามารถดึงพลังงานไปใช้ได้ในทันที เพราะกับการกินเพื่อให้พลังงานในการออกกำลังกาย
ดังนั้นหากคิดจะกินกล้วยเพื่อการลดน้ำหนัก ควรควบคู่ไปด้วยกันกับการออกกำลังกายด้วย หากกินมากไป อาจทำให้ร่างกายได้รับพลังงานมากเกินไป และอาจอ้วนได้
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการกินกล้วยดิบ เพราะกล้วยดิบจะมีแป้งมาก ย่อยยาก ทำให้ท้องอืด และท้องผูก เพราะเส้นใยอาหาร (เพคติน) ในกล้วยที่อาจไปดูดซึมน้ำในลำไส้ เมื่อลำไส้ไม่มีน้ำไปหล่อเลี้ยงกากอาหาร อุจจาระจึงแข็งตัวจนเกิดอาการท้องผูก
กล้วย ไม่ใช่อาหารเพื่อรักษาโรค ควรกินอย่างพอเหมาะในปริมาณที่เหมาะสม และออกกำลังกายเป็นประจำ ผู้ป่วยเบาหวานและโรคประจำตัวอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณที่เหมาะสมในการกิน
ที่่มา ไทยนิวส์ออนไลน์