“ไข้เลือดออก” กำลังอยู่ในภาวะที่อันตราย หลังล่าสุดกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุขรายงานพบว่ามีพื้นที่ 30 อำเภอใน 18 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา ตาก เพชรบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด อุบลราชธานี กระบี่ ภูเก็ต สงขลา สตูล นราธิวาส และกรุงเทพมหานคร
ซึ่งพบผู้ป่วยต่อเนื่องนานเกิน 8 สัปดาห์ และมีจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกใน 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา มากกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังในช่วงเวลาเดียวกัน ถือว่าเข้าใกล้เกณฑ์ในการประกาศให้เป็นพื้นที่ระบาดไข้เลือดออก
จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้โรคไข้เลือดออกเป็นประเด็นที่ได้รับความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าว “ฐานเศรษฐกิจ” จะพาไปทำความรู้จักกับ “ไข้เลือดออก” ให้มากยิ่งขึ้น ทั้งอาการ และสาเหตุของการเกิดโรค
ไข้เลือดออกเกิดจากอะไร
ไข้เลือดออกเป็นโรคที่เกิดจากยุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งมักระบาดในช่วงฤดูฝน เนื่องจากเมื่อฝนตกจะทำให้เกิดน้าขังในภาชนะต่างๆ กลายเป็นแหล่งวางไข่ของยุง ส่งผลให้ยุงพาหะชุกชุมมากขึ้น ประชาชนจึงอาจเสี่ยงป่วย “โรคไข้เลือดออก”
อาการไข้เลือดออก
- มีไข้สูงเฉียบพลัน และสูงลอยประมาณ 2-7 วัน ร่วมกับปวดศีรษะ
- ปวดเมื่อยตามตัว
- หน้าแดง
- อาจมีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา
- อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเบื่ออาหาร
- ส่วนใหญ่ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก
- ต่อมาไข้จะลดลง ในระยะนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ ซึ่งลักษณะอาการบางอย่างของโรคไข้เลือดออก อาจมีอาการคล้ายกับโรคโควิด 19
ขอให้สังเกตอาการป่วยของคนในครอบครัว หากมีไข้สูงลอยเกิน 2 วัน และเช็ดตัวหรือกินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลง ขอให้คิดว่าอาจป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก
ยาห้ามรับประทาน
ไข้เลือกออกไม่ควรซื้อยามารับประทานเองโดยเฉพาะยาในกลุ่มเอ็นเ(NSAIDs) ได้แก่
- ไอบูโพรเฟน
- ไดโครฟีแนก
- แอสไพริน
- ยาชุด
เนื่องจากมีผลทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารได้ง่าย และยากต่อการรักษา ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิต ให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์หรือสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัย ประเมินอาการ เพื่อที่จะได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องอย่างรวดเร็ว จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้
โดยปัจจุบันมีการใช้ชุดตรวจโรคไข้เลือดออกชนิดรวดเร็ว (Dengue Rapid Diagnosis Test) ทำให้สามารถวินิจฉัยผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกได้เร็วมากขึ้น
วิธีป้องกัน
การป้องกันโรคไข้เลือดออกให้ได้ผลดีที่สุด คือการป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด โดยการทายากันยุงหรือนอนในมุ้ง กำจัดแหล่งวางไข่ยุงลายรอบบ้าน ทำลายภาชนะที่มีน้ำขัง หรือใช้ทรายกำจัดลูกน้ำบริเวณน้ำขัง และที่สำคัญต้องไม่สร้างแหล่งวางไข่ยุงลายเพิ่มขึ้น
ให้ยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ได้แก่
- เก็บบ้านให้สะอาด ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในบ้านและรอบบ้าน ให้มีความเป็นระเบียบ ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
- เก็บขยะ บริเวณรอบบ้านไม่ให้เป็นแหล่งวางไข่ยุงลาย
- เก็บน้ำ โดยปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ พร้อมทั้งขัดขอบภาชนะ เพื่อกำจัดไข่ยุงลาย
ข้อมูล : กรมควบคุมโรค
เรื่องราวโดย Thansettakij